Jun 30, 2009

(ฅ.) คน

ตั้งแต่เด็กๆมาแล้วผมมักถูกเพื่อนๆรวมทั้งญาติๆในครอบครัว เรียกว่า “แกะดำ”
เนื่องด้วย การทำตัวที่แปลกประหลาด ผ่าเหล่าแยกต่างจากคนรอบข้างทั่วๆไป
ตอนนั้น ด้วยความเป็นเด็กน้อย ไม่ได้เข้าใจตัวเอง เห็นว่ามันเท่ห์ดี
การทำตัว “แปลกๆ” ทำให้คนสนใจเรา (ไม่รู้เล้ยว่า พ่อแม่ผู้ปกครองเขาเป็นห่วงแค่ไหน)
บ่อยๆครั้งนานวันเข้า ก็ติดใจกลายเป็นนิสัยใหม่ ที่ต้องสรรหาความแตกต่างจากชาวบ้าน โดยไม่จำเป็น
หารู้ไม่ว่า “ราคา” ของมัน แพงระยับ เพราะ พฤติกรรมเหล่านั้นส่งผลต่อวิธีคิดของผมในเวลาต่อมาอีกนาน

คน มีความแตกต่างกันจากหลากหลายสาเหตุ
ไม่ว่าด้วยเพราะคนเราเกิดมาต่างกัน ต่างพันธุกรรม ต่างสภาพแวดล้อมช่วงเยาว์วัย และอื่นๆอีกมากมาย
แต่ทั้งสิ้น คนเราก็อยู่ในโลกนี้ร่วมกันเป็นชุมชนใหญ่ ไม่ว่าเราจะอยากหรือไม่อยากก็ตาม

การเป็น แกะดำ ในฝูงแกะขาว จึงอาจดูเป็นเรื่องประหลาด
แต่หากมีแกะสีเหลืองโผล่ออกมาอีกซักตัว แกะดำกับแกะเหลืองอาจกลายเป็นเพื่อนกันได้ไม่ยาก

ผมก็ไม่รู้ที่มาที่ไปของคำว่า “แกะดำ” (Black sheep) เหมือนกันว่าเริ่มต้นมาจากไหนอย่างไร
เคยได้ยินมาเพียงว่า แกะมีนิสัยเห็นแก่กิน สายตาสั้น กลัวง่าย ตกใจง่าย เท่านั้น

ผมคิดว่า การที่ คน มาอยู่รวมตัวกันนั้น คงเพราะไม่ใช่เพียงเพราะเห็นแก่กิน
มองเห็นข้างหน้าไกลได้แค่ก้นของคนอื่น หรือ พอใจจะเบียดกันอยู่ในความรู้สึกอบอุ่น(ท่ามกลางขนนุ่มๆ)ของคนข้างๆ

การอยู่ร่วมกันเป็นโขลงๆก็ดูใหญ่โตดี ดูน่าปลอดภัย ดูน่าอบอุ่นใจ
แต่หากทุกๆคนต่างคนต่างคิดว่า เมื่อมีภัยเข้ามากร้ำกราย ก็จะมีคนอื่นกระโดดออกหน้ามาปกป้อง มาเผชิญหน้าแทนเรา แล้วเราก็จะปลอดภัย สามารถอยู่ต่อไปได้อย่างสบายๆไม่เดือดร้อนอะไร

หากฝูงแกะกระจายได้เพราะหมาป่า ฝูงคนเหล่านี้ก็คงกระเจิงได้เพราะปัญหาเหมือนกัน

คนเราแม้คิดต่างกัน เชื่อต่างกัน ใช่ว่าจะอยู่ด้วยกันไม่ได้เสียเลยทีเดียว
แต่เพราะแค่เพียงมีเป้าหมายร่วมกัน หรือมีความรักผูกพันต่อกัน ในโลกยุควันนี้และวันหน้า ผมไม่คิดว่าจะเพียงพอ

ประเภทของคน จะก่อให้เกิดเอกลักษณ์ของชุมชนที่ชัดเจน
ซึ่งผมมองว่าเป็นเงื่อนไขจำเป็นต่อความอยู่รอดขององค์กรนับจากวันนี้ไป

องค์กร หรือชุมชน ก็คือ “คน” ที่มาอยู่ร่วมกัน
ความเป็นองค์กร หรือ ความเป็นชุมชน หรือเรียกหรูๆว่า วัฒนธรรมองค์กรนั้น
จึงเกิดจาก ปรัชญา ความเชื่อ ค่านิยม เป้าหมาย ของคนแต่ละคนในองค์กร
ซึ่งในขณะเดียวกัน
สิ่งที่สะท้อนออกมาจากชุมชนเป็นค่านิยมร่วม (Shared value)
ก็จะมีผลย้อนกลับมาทำให้เกิดการกระบวนการขัดเกลาทางสังคม (Socialization) ต่อ “คน” แต่ละคนในชุมชนด้วย

การจะเปลี่ยน วิถีขององค์กร ผมคิดว่าจึงต้องเริ่มเปลี่ยนที่ “คน”
ใครบางคนที่มีผลกระทบต่อชีวิตของ “คน” อื่นๆในชุมชน เขาคนนั้นสมควรเป็นผู้เริ่มต้นเปลี่ยนแปลงตัวเองก่อน
(แน่นอนว่า เราทุกคนต่างมีอิทธิพลชีวิตต่อกันและกันอยู่แล้ว)

มองย้อนกลับไปในอดีต เห็นวิธีคิด ทัศนคติและจิตใจของตัวเองในวัยเด็ก ทำให้เข้าใจตัวเองในวันนี้และคนอื่นทั้งในวันนั้นและในวันนี้มากขึ้น
คนอื่นเขาเรียกเราว่า แกะดำ เพราะเขาเห็นว่าเรา “ทำ” แปลกๆ เขามองว่าเพราะเรา “คิด” แปลกๆ
ในขณะที่เรากลับไม่ได้มองว่า เรา “ดำ” หรือเขา “ขาว” แต่มองว่า เราทุกคนล้วนเป็น “คน” เหมือนกัน

หากชุมชนใด ยังปล่อยให้เรื่องบางเรื่องไม่ว่าเล็กหรือใหญ่
ก่อตัวกลายเป็น “กำแพงแห่งความไม่เข้าใจ” ให้คนส่วนใหญ่ใช้เป็นเหตุผลในการเรียกคนบางคนว่า “แกะดำ”
เกิดความคิดแยกพวก แยกฝ่าย ไม่เห็นด้วย รับไม่ได้กับการคิดต่างจากประชากรหมู่มาก
คนประเภทนี้ คงอยู่ร่วมกับคนประเภทแกะหลากสีได้ลำบาก...

หากยังจะฝืนให้อยู่ด้วยกันต่อไป คำว่า “คน” คงไม่พ้น เป็นได้เพียงแค่ “คำกิริยา”

Jun 19, 2009

พรสวรรค์...เหรอ?

ได้ยินชื่อของ SUSAN BOYLE มาเดือนกว่าๆแล้วจากน้องคนหนึ่ง "เข้า ยูตูบ ไปดูให้ได้นะพี่ สุดยอด" น้องคนนั้นย้ำมาด้วยหน้าตาชวนสงสัยมากว่า เธอเป็นใคร แล้วทำไมต้องดู

วันนี้ โอกาสดี เข้าไปดูแล้วตะลึงตึงตัง ไม่ใช่ที่เรื่องเสียงของเธอเท่านั้นนะครับ แต่ความหมายของเพลง i dreamed a dream ที่เธอร้องกับความรู้สึกของเธอที่สื่อออกมา สำหรับผม นี่เป็นคำเตือนจากเพื่อนร่วมโลกคนหนึ่ง ที่มีอายุ 47 ปี...

อย่าเป็นเหมือนอย่างฉัน ที่ปล่อยให้ชีวิตของฉันฆ่าความฝันของฉันเอง...
แม้วันนี้ ฉันจะมีชีวิตอยู่กับมันได้ แต่มันไม่ใช่ชีวิตที่ฉันต้องการเลย

ถึงอย่างไร วันนี้ฉันได้เริ่มทำความฝันของฉันให้เป็นจริงอีกครั้ง... นั่นคือสิ่งที่เธอบอก

ถึงแม้ว่าเธอจะไม่ชนะการประกวดครั้งนี้ แต่ผมก็เชื่อว่า เธอคงจะมุ่งมั่นเดินทางสู่อเมริกา สู่ก้าวต่อไปตามความฝันของเธอ
ซูซาน แพ้ในรอบชิงชนะเลิศ ให้กับ Diversity ทีมที่เต้นในลักษณะ Dance Act พวกเขามีอายุ 12-25 ปี เท่านั้น
การแสดงของพวกเขาทำให้ผมนั่งอยู่กับ ยูตูบ เพื่อดูรายการ Britain got Talent 2009 อีกหลายตัว

หลังจากดูคลิปการประกวดอีกหลายตัว ผมคิดว่า Diversity สมควรเป็นผู้ชนะเลิศจริงๆ
แม้งานนี้จะบอกว่า คนบริติชมีพรสวรรค์ แต่ผมคิดว่าพวกเขาไม่ได้ชนะด้วยพรสววรค์

นอกจาก diversity ยังมี flawless ที่เป็น dance group เช่นกัน และเต้นได้สวยมาก
ผมคิดว่าในรอบแรก flawless เต้นได้ดีกว่า diversity ด้วยซ้ำ

ผมอาจจะคิดไปเองนะ แต่ผมคิดว่า สิ่งหนึ่งที่สำคัญ ซึ่งช่วยให้ diversity ชนะในที่สุด คือ ความฉลาด และ ความหลากหลาย ของคนในทีม
พวกเขาใช้ความหลากหลายของเขาได้อย่างลงตัว สะท้อนถึงความฉลาดของคนออกแบบท่าเต้นประกอบเรื่อง

ทีม diversity ประกอบด้วยคนหลายช่วงวัย ตั้งแต่นักเรียนมัธยม จนถึงเด็กมหาวิทยาลัย
การแสดงทุกชุดของเขา มี concept พวกเขามีความสุข และสนุกที่ได้ทำในสิ่งที่พวกเขาฝัน
ไม่เพียงแต่ท่าเต้น แต่เรื่องราวและดนตรีประกอบ ทุกอย่างถูกคิด และมีการซ้อมมาอย่างดี

แม้แต่ในการแสดงหลังจากประกาศรางวัล ที่หัวหน้าทีมตื่นเต้นดีใจจนพูดผิดพูดถูก พวกเขายังเต้นไม่มีหลุดคิว
สะท้อนว่า พวกเขาซ้อมกันมาอย่างหนักจริงๆ

จนถึงบรรทัดนี้ ผมยังคงนั่งคิดอยู่ว่า พวกเขาชนะการแข่งขันครั้งนี้เพราะอะไร
คงไม่ใช่เรื่องพรสวรรค์ คงไม่ใช่แค่เรื่องการซ้อม หรือว่า ความฉลาดของพวกเขา หรือเป็นเพราะเขาร่วมแรงร่วมใจกันเป็นหนึ่งเดียว...

หรือเพราะประโยคหนึ่ง ที่พวกเขาชอบพูดและชอบใช้บ่อยๆ... "i have a dream"

Jun 17, 2009

นักปรัชญา#4: สัจจชน (People of Truth)

Philosophy ( φιλοσοφία, philosophía ) แปลว่า รักในความรู้ (love of wisdom)
phileo แปลว่า รัก
sophia แปลว่า ความรู้

ปรัชญา อาจเป็นเรื่องที่ใครหลายคนร้องยี้เมื่อได้ยิน และจินตนาการไปไกลถึงใครบางคนในมโนทัศน์ที่ใกล้เคียงกับคำว่า คนบ้า

หลายคนเมื่อก้าวเข้าสู่เส้นทางของการแสวงหาความจริง หลงติดอยู่ในเส้นทางวังวนที่ไปไม่ถึง และหาทางกลับไม่เจอ

โดยสรุป เส้นทางของนักปรัชญา คือ การแสวงหาเส้นทางแห่งความจริง สัจจะนิรันดร์ หรือความจริงสากล (Truth) ตามแต่ใครจะเรียกกัน
ทุกเรื่อง ทุกสิ่งมีความจริงแท้เสมอ มิใช่เพียงสิ่งที่เห็นว่าจริง (Fact)
แต่พึงตระหนักระลึกตัวเองไว้เสมอว่า เราเป็นมนุษย์ บางเรื่องบางอย่าง เพียง fact ก็เพียงพอแล้วกับการ "เริ่มต้น" ดำเนินชีวิตอย่างมีความหมายบนโลกนี้

จงเรียนรู้ที่จะถาม ถามในสิ่งที่ตัวไม่รู้ แม้คำถามนั้นดูโง่
จงเรียนรู้ที่จะหาคำตอบ การเร่งรีบสรุปความ อาจปิดบังคำตอบที่ซ่อนอยู่ใต้จมูกของเรา
จงเรียนรู้ที่จะกล้าหาญ กล้าหาญที่จะชี้ให้คนเห็นถึง "ความน่าสะพรึงกลัว" หากเราเชื่อว่าจริง
จงเรียนรู้ที่จะซื่อสัตย์ ซื่อสัตย์กับการใช้เหตุผลด้วย"หัว" และใช้ความรู้สึกด้วย"ใจ"ของตัวเราเอง

การรู้ความจริงจริงๆแม้เพียงเรื่องเล็กๆเรื่องเดียวและทำตามนั้น จะเปิดประตูนำพาจิตวิญญาณของเราก้าวสู่พรมแดนแห่งความจริง
อย่าไปกลัวที่จะแสวงหาความจริงครับ คนไม่ได้ บ้า เพราะ การแสวงหาความจริง
แต่คนเสียตัวตนของเขาไป เพราะไม่สามารถยอมรับกับความจริงนั้นได้
การทำในสิ่งที่เราเชื่อว่าจริง จึงเป็นเส้นทางที่ค่อนข้างปลอดภัยสำหรับนักปรัชญาหน้าใหม่

ที่ต้องบอกว่า ค่อนข้างปลอดภัย เพราะบางคนไม่อาจทำใจให้ยอมรับได้ เมื่อพบว่า สิ่งที่ตนเชื่อมาตั้งนานนั้นไม่จริง

ผมเชื่อว่า ความรู้ เป็นเส้นทางที่ดีในการเปิดเผยสำแดง สัจธรรม ให้แก่มนุษย์
แต่อย่าเพียง "รักที่จะรู้" เท่านั้น จง "รักที่จะรัก" ด้วย
เพราะความรู้มักทำให้คนผยองขึ้น แต่ความรักต่างหากที่ทำให้มนุษย์อย่างเราๆและทุกสิ่งอย่าง "ครบถ้วน" ครับ

นักปรัชญา#3: ตอนที่3 เรือบรรทุกสารพันธุกรรมของดาร์วิน

ทั้ง มาร์กซ ดาร์วิน และฟรอยด์
ล้วนเป็นผู้ที่อยู่และมีอิทธิพลในช่วงกระแสธรรมชาติวิทยานับตั้งแต่ศตวรรษที่19 จนถึงปัจจุบัน
ลักษณะสำคัญของกลุ่มนี้ คือ การรับรู้ความเป็นจริงเฉพาะที่อยู่ในธรรมชาติและโลกของประสาทสัมผัสเท่านั้น
ไม่ใช้วิธีตั้งสมมติฐานแบบนักเหตุผลนิยม หรือ การเปิดเผยสำแดงของพระเจ้า

ดาร์วิน เชื่อว่า เผ่าพันธุ์มนุษย์เป็นผลของวิวัฒนาการทางชีววิทยาที่เกิดขึ้นอย่างช้าๆ
หลักฐานที่เขาใช้สนับสนุนทฤษฎีนี้ ส่วนใหญ่ได้จากการหมู่เกาะกัลป์ปากอส ในการเดินทางสำรวจโลก 5 ปี กับเรือบีเกิล
ครั้งนั้นเขานำหนังสือ หลักธรณีวิทยา ของชาร์ลส ลีเอล ติดไปด้วย
หลักใหญ่ใจความของหนังสือนี้ คือ
การเปลี่ยนแปลงเพียงเล็กน้อย ก็อาจก่อให้เกิดความผันผวนทางธรณีวิทยาขนาดใหญ่ได้
หากเกิดขึ้นเป็นระยะเวลาที่ยาวนานมากพอ

ต่อมา ดาร์วิน คำนวณอายุโลกได้ประมาณ 300 ล้านปี
ทั้งที่คนในยุคนั้นเชื่อว่าโลกมีอายุราวหกพันปี
อาจเป็นเพราะทฤษฎีค่อยเป็นค่อยไปของลีเอล และทฤษฎีวิวัฒนาการของเขา
จะไม่มีทางสมเหตุสมผลได้เลย หากไม่มีเวลานานขนาดนั้น

เขาอธิบายข้อเสนอเกี่ยวกับวิวัฒนาการทางชีววิทยา
ด้วยเรื่องการทับถมของฟอสซิลเป็นชั้นๆในชั้นหินระดับต่างๆ และการกระจายตัวของสิ่งมีชีวิตตามสภาพภูมิศาสตร์
เขาพบความแตกต่างเล็กๆน้อยๆของสิ่งมีชีวิตบนเกาะ
เช่น จงอยของปากนกจาบแต่ละชนิดมีความเหมาะสมกับประเภทอาหารของมันอย่างสมบูรณ์แบบ
คำถามคือ นกเหล่านี้มีบรรพบุรุษเดียวกันหรือเปล่า
ด้วยเวลาที่นานพอ มันจึงค่อยๆปรับตัวให้เข้ากับแหล่งอาหาร จนเกิดเป็นสายพันธุ์ใหม่ขึ้นมา

เขาสนับสนุนความคิดนี้ ด้วยทฤษฎีเรื่อง การคัดเลือกโดยธรรมชาติ
ว่าผู้ที่สามารถปรับตัวให้เข้ากับสภาพแวดล้อมได้ดีที่สุด จะมีชีวิตรอดและมีลูกหลานสืบต่อไป
ซึ่งการคัดเลือกอย่างต่อเนื่องนี้ จะนำไปสู่การปรับตัวให้เข้ากับสภาพทางภูมิศาสตร์แบบหนึ่งอย่างเฉพาะเจาะจงในที่สุด
เขาได้อธิบายเพิ่มเติมว่าที่มนุษย์ยังคงมีเพียงประเภทเดียว
เพราะมนุษย์มีความสามารถในการปรับตัวให้เข้ากับสภาพแวดล้อมที่ต่างกันได้ดีเป็นพิเศษ

ข้อเสนอของดาร์วิน ส่งผลให้โลกวิทยาศาสตร์ในขณะนั้นแตกออกเป็นสองฝ่ายอย่างชัดเจน
และสร้างความขุ่นเคืองใจต่อศาสนจักรเป็นอย่างมาก
ทฤษฏีของดาร์วิน ไม่เพียงส่งผลให้คนยุคสมัยนั้น
ต้องกลับมาทบทวนหนังสือปฐมกาลของพระคริสต์ธรรมคัมภีร์อีกครั้งด้วยความสงสัยในการสร้างโลกของพระเจ้า
ความเชื่อของเขายังได้ชักจูงให้คนเห็นว่า
มนุษย์ไม่ใช่อะไรเลย นอกจากความแตกต่างของสสาร ที่ บังเอิญ ผ่าเหล่าออกมาอย่างชนิด ไม่มีใครกะเกณฑ์อะไรได้
เป็นเพียงการดิ้นรนเพื่อความอยู่รอดเท่านั้น

มนุษย์...จึงไม่จำเป็นต้องแสวงหาความหมายของชีวิตหรือสิ่งใด
เพราะมนุษย์เป็นเพียงผลผลิตของสิ่งที่ไร้ความรู้สึกเท่านั้น... ในสายตาของ ดาร์วิน

นักปรัชญา#3: ตอนที่2 การเปลี่ยนโลกของมาร์กซ

เรามักพูดกันว่ายุคของระบบปรัชญาที่ยิ่งใหญ่จบลงที่เฮเกล
ปรัชญาเปลี่ยนทิศทางจากระบบคิดที่ยิ่งใหญ่ กลายเป็นปรัชญาอัตถิภาวนิยม
หรือปรัชญาแห่งการกระทำตามความหมายของ มาร์กซ เมื่อเขาพบว่า
“ที่ผ่านๆมานักปรัชญาได้แต่ตีความโลกไปในวิถีต่างๆกัน ประเด็นคือเราต้องเปลี่ยนโลกต่างหาก”

มาร์กซ คิดว่า ปัจจัยทางวัตถุในสังคมมีบทบาทอย่างมากในการกำหนดวิธีคิดของเรา
ซึ่งจะมีผลต่อพัฒนาการของประวัติศาสตร์ในที่สุด
ในขณะที่เฮเกลเรียกพลังที่ขับเคลื่อนประวัติศาสตร์ว่าเหตุผลสากล
ซึ่ง มาร์กซ มองว่าเฮเกลคิดสลับกลับเหตุและผล

มาร์กซ ชี้ให้เห็นว่า “ความสัมพันธ์ทางจิตวิญญาณ” ไม่ได้ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของวัตถุ
แต่การเปลี่ยนแปลงทางวัตถุต่างหากที่สร้างความสัมพันธ์ทางจิตวิญญาณรูปแบบใหม่ขึ้นมา
โดยที่พลังทางเศรษฐกิจในสังคมคือตัวการสร้างความเปลี่ยนแปลงนี้
ดังนั้น พลังทางเศรษฐกิจจึงเป็นตัวขับเคลื่อนประวัติศาสตร์ให้ก้าวไปข้างหน้า

มาร์กซ เรียกความสัมพันธ์ทางวัตถุ เศรษฐกิจ และสังคมว่า พื้นฐานของสังคม
และเรียกวิธีคิดของสังคม รูปแบบการเมือง กฎหมายที่สังคมใช้
ศาสนา ศีลธรรม ศิลปะ ปรัชญาและวิทยาศาสตร์ว่า โครงสร้างส่วนบน ของสังคม

พื้นฐานของสังคมมีสามขั้น ขั้นแรก คือ เงื่อนไขในการผลิต ทรัพยากรธรรมชาติอะไรที่สังคมมี
สิ่งเหล่านี้เป็นรากฐานของสังคม ซึ่งจะเป็นตัวตัดสินรูปแบบการผลิตและวัฒนธรรมของสังคมนั้น
ขั้นต่อมา คือ ปัจจัยการผลิต พวกอุปกรณ์ เครื่องมือเครื่องจักรต่างๆของสังคม
สุดท้าย คือ ขั้นความสัมพันธ์ในการผลิต เป็นการแบ่งกระจายงานกันทำของคนที่เป็นเจ้าของปัจจัยการผลิต
เรียกได้ว่า พื้นฐานของสังคม หรือ วิถีการผลิต ในสังคมนั่นแหล่ะ คือ สิ่งที่กำหนดเงื่อนไขและอุดมการณ์ของสังคมนั้นๆ

มาร์กซ มองว่าการบอกว่าอะไรคือสิ่งที่ถูกศีลธรรมนั้นเป็นผลผลิตของ พื้นฐานของสังคม
เขาเน้นว่า ส่วนใหญ่แล้ว ชนชั้นปกครองในสังคมคือผู้ที่กำหนดบรรทัดฐานว่าสิ่งใดถูกสิ่งใดผิด
ประวัติศาสตร์จึงเป็นของผู้ที่ครอบครองปัจจัยการผลิตของสังคม

แม้ว่าทั้งเฮเกลและมาร์กซ ต่างมองว่างานคือสิ่งที่ดีและส่งผลอย่างมากต่อแก่นสารของความเป็นมนุษย์
โดยวิธีการทำงานของเรามีผลกระทบต่อจิตสำนึกของเรา และจิตสำนึกของเราก็มีผลต่อการทำงานของเราด้วย
แต่ในระบบทุนนิยม
มาร์กซมองว่าคนงานจะใช้แรงงานเพื่อคนอื่น บ่อยครั้งที่คนงานไม่ได้ทำงานที่ตัวเองชอบ
คนงานจะเริ่มรู้สึกแปลกแยกกับงาน และแปลกแยกกับตัวเองด้วย
จนไม่สามารถสัมผัสกับความเป็นจริงของตนเองได้ในที่สุด
ยิ่งในยุคสมัยของเขา
งานซึ่งควรจะเป็นความภูมิใจของมนุษย์ ได้ทำให้คนงานกลายเป็นสัตว์งานไป

นายทุนร่ำรวยขึ้นด้วยการขูดรีดแรงงานจำนวนมากมาย
และผลกำไรมหาศาลนี้ก็นำมาซึ่งความแตกต่างทางฐานะความเป็นอยู่ในการดำเนินชีพในสังคม และการปรับปรุงการผลิต
ซึ่งจะนำไปสู่การลดจำนวนคนงานและ/หรือค่าจ้างในที่สุดของทั้งระบบทุนนิยม

มาร์กซเชื่อว่าจะต้องเกิดการปฏิวัติ เกิดการต่อสู้เพื่อเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางสังคมในที่สุด
เขาเชื่อว่า สังคมทุนนิยม ไม่ใช่สังคมที่ยุติธรรม

ถึงทุกวันนี้ นักเศรษฐศาสตร์สามารถกล่าวได้มาร์กซวิเคราะห์ผิดพลาดในหลายประเด็นสำคัญ รวมถึงเรื่องวิกฤตของระบบทุนนิยมด้วย แต่ถึงกระนั้น ทฤษฎีของเขาก็เป็นต้นแบบที่นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงใหญ่ๆหลายๆครั้งบนโลกใบนี้

นักปรัชญา#3: ตอนที่1 เฮเกลเชื่อว่า...

คงไม่ผิดนักหากจะกล่าวว่า
สิ่งหนึ่งที่ระบบปรัชญาของโลกก่อนหน้ายุคสมัยของ “เฮเกล” มีร่วมกัน คือ
ความพยายามที่จะสร้างมาตรฐานที่เที่ยงแท้ว่า มนุษย์สามารถรับรู้อะไรเกี่ยวกับชีวิตและโลกนี้ได้บ้าง
พวกเขาพยายามตรวจสอบพื้นฐานการรับรู้ของมนุษย์
แต่สิ่งที่พวกเขาเห็นร่วมกันคือ องค์ประกอบแห่งความรู้ของมนุษย์นั้นไร้กาลเวลาและเป็นสากล
มนุษย์ผู้อยู่ภายใต้กาลเวลาจึงไม่สามารถสร้างมาตรฐานนี้ได้

แต่เฮเกลเชื่อว่า สิ่งที่เป็นพื้นฐานของการรับรู้ของมนุษย์เปลี่ยนแปลงไปในคนแต่ละยุค
การไตร่ตรองทางปรัชญาก็เช่นเดียวกัน
เขาเชื่อว่าเหตุผลเป็นสิ่งที่เป็นพลวัตรและเป็นกระบวนการ มันจะไหลไปตามกระแสของขนบธรรมเนียมในอดีต
และเงื่อนไขทางสังคมที่ปรากฏในเวลานั้น
เราไม่สามารถแยกแนวคิดทางปรัชญาใดออกจากบริบททางประวัติศาสตร์ที่เกิดแนวคิดนั้นได้
เราจึงไม่สามารถบอกว่า แนวคิดของยุคสมัยอื่นผิด เพียงเพราะเราอยู่ในยุคสมัยนี้

เฮเกล เชื่อว่า เหตุผล หรือ ความรู้ ของมนุษย์นั้น ขยาย และ “ก้าวหน้า” ตลอดเวลา
หรือ อีกนัยหนึ่ง “สัจธรรม” จึงเป็นสิ่งที่เป็นพลวัตร ไม่มีสัจธรรมที่เที่ยงแท้
เพราะมนุษย์ไม่มีเครื่องมือที่อยู่เหนือกระบวนการทางประวัติศาสตร์ของเหตุผล
ซึ่งจะสามารถนำมาใช้ตัดสินได้ว่าอะไรถูกต้องที่สุดและมีเหตุผลที่สุด

เฮเกล อ้างว่า ใครก็ตามที่ศึกษาประวัติศาสตร์
จะพบว่า มนุษยชาติ ก้าวหน้าสู่ “การรู้จักตนเอง” และ “การพัฒนาตนเอง” มากขึ้นเรื่อยๆ
ประวัติศาสตร์ชี้ให้เห็นว่า มนุษย์กำลังเคลื่อนสู่ความมีเหตุผลและการมีเสรีภาพมากขึ้นเรื่อยๆ

เฮเกล ชี้ให้เห็นจากประวัติศาสตร์ว่า
ความคิดหนึ่งมักได้รับการเสนอขึ้นมา บนฐานของอีกความคิดหนึ่งที่มีการเสนอมาแล้วก่อนหน้านั้น
แต่ทันทีที่มีความคิดใดเสนอขึ้นมาเป็น “ภาวะพื้นฐาน” (Thesis)
ก็จะมีการแย้งโดยอีกความคิดหนึ่งเป็น “ภาวะแย้ง” (antithesis)
ทำให้เกิดความตึงเครียดระหว่างสองความคิด เกิดภาวะที่ขัดแย้งกัน
ซึ่งจะแก้ไขได้ด้วย การเสนอข้อแย้งของข้อแย้ง เป็นภาวะสังเคราะห์ (synthesis)
เกิดความคิดร่วมซึ่งรวมเอาจุดดีของสองความคิดแรกไว้ด้วยกัน
เฮเกลเรียกปรากฏการณ์นี้ว่า “กระบวนการ วิภาษวิธี”
หรือหากใช้กับความคิด วิธีคิดแบบนี้เรียกว่า “การคิดเชิงวิพากษ์”

แต่บ่อยครั้ง ท่ามกลางความขัดแย้งที่ตึงเครียด เป็นการยากที่จะตัดสินว่า ความคิดใดมีเหตุผลกว่า
“ประวัติศาสตร์” จึงทำหน้าที่เป็นตัวชี้ให้เห็นว่า สิ่งที่สมเหตุสมผล คือ สิ่งที่จะอยู่รอดได้

แน่นอนว่า “เหตุผล” ของเฮเกล เป็น “ตรรกะที่มีพลวัต” ซึ่งจะก่อให้เกิด กระบวนการวิภาษวิธีชุดใหม่ๆต่อไปไม่สิ้นสุด

นอกจากนั้น เฮเกล ยังเน้นความสำคัญของครอบครัว ชุมชน และรัฐ
สำหรับเขา รัฐ “มีความหมายมากกว่า” ปัจเจกชนที่เป็นพลเมืองของรัฐ
ไม่มีใครที่สามารถเกิดมาโดย “เป็นอิสระ” จากภูมิหลังทางประวัติศาสตร์ของรัฐ
ไม่มีใครสามารถ “ลาออกจากสังคม” ได้
ใครก็ตามที่ไม่สามารถหาที่ทางของเขาได้ในสังคม จึงเป็นคนไม่มีประวัติศาสตร์
ใครก็ตามที่ยักไหล่ไม่ใยดีกับสังคมที่เขามีชีวิตอยู่
และต้องการจะ “แสวงหาวิญญาณของตนเอง” ย่อมเป็นที่เย้ยหยันของผู้อื่น

เฮเกล คิดว่าไม่ใช่ปัจเจกชนที่ค้นหาตัวเอง
แต่เป็นจิตสากลในบุคคลที่แสวงหาการกลับสู่ตัวตนของมันเอง
ขั้นแรก จิตจะตระหนักถึงตัวเองในปัจเจกชน เรียกว่า จิตอัตวิสัย
ต่อมาเมื่อจิตตระหนักรู้จากการมีปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่นในรัฐ เรียกว่า จิตปรนัย
สุดท้าย จิตตระหนักในตัวตนขั้นสูงสุด เรียกว่าจิตสัมบูรณ์ ด้วยศิลปะ ศาสนา และปรัชญา
โดยสูงสุด คือ ปรัชญา เพราะในปรัชญาจิตจะไตร่ตรองผลกระทบของตัวมันที่มีต่อประวัติศาสตร์

นั่นคือ จิตจะนำพามนุษย์ให้สามารถค้นพบตัวเองได้เป็นครั้งแรกในปรัชญา
หรืออีกนัยหนึ่ง ปรัชญาก็คือกระจกเงาของจิตสากล(ในมนุษย์แต่ละคน) นั่นเอง

นักปรัชญา#3: เฮเกล ปะทะ มาร์กซและดาร์วิน

ตอนนี้ยาวจริงๆ เพื่อความสบายตาของผู้อ่าน ขอแบ่งเป็น 3 ตอนย่อยๆนะครับ

ก่อนหน้านี้ตั้งใจว่า จะค่อยๆทยอยเขียนให้อ่านกัน
ช่วงนี้ได้อ่านหนังสือเชิงปรัชญาแล้วเกิดความคิดว่า หากเราเป็นนักปรัชญา(จริงๆ) กันมากขึ้น น่าจะส่งผลต่อความคิด วิธีคิดและชีวิตเราแต่ละคนให้ดีขึ้น

น่าเสียดาย "งานเข้า" คงจะรีบเขียนบทสรุปโดยเร็ว เพื่อเตรียมพื้นที่ไว้ให้กับเหตุการณ์ที่ไม่มีใครรู้ว่าจะเกิดอะไรขึ้นในอนาคตอันใกล้นี้ แต่ไม่ว่าอย่างไร ทุกสิ่งที่เกิดขึ้นแล้วล้วนดี... ผมเชื่ออย่างนั้นครับ

Jun 16, 2009

นักปรัชญา#2: ทางเลือกของคำตอบ

หากว่าเช้าวันหนึ่ง ผมมีนัดกับลูกค้า ซึ่งผมต้องเดินทางด้วยรถประจำทางสาย 18 ผมจ่ายค่าโดยสาร 18 บาท ตอนบ่ายกลับมาถึงบริษัท มีจดหมายด่วนส่งมาถึงผม 18 ฉบับ ตกเย็นไปกินข้าวกับเพื่อนได้บัตรคิวที่ 18 พนักงานพาไปนั่งโต๊ะที่ 18 เดินผ่านร้านขนมหวาน วันนี้ลดราคาพิเศษ ทุกชิ้นราคาเหลือเพียง 18 บาท สุดท้ายแวะซื้อกล้วย 1 หวีหน้าปากซอย กลับมาถึงบ้าน นึกในใจเล่นๆลองนับกล้วยหวีนั้น... ถูกต้องครับ มันมี 18 ผลพอดี

หากลองคิดถึงเหตุการณ์ต่างๆที่เกิดขึ้นในแต่ละวัน นึกถึงทุกอย่างที่เราเห็น ที่เราประสบพบเจอ เราอาจจะพบกับความเชื่อมโยงของเหตุการณ์ต่างๆซึ่งไม่เกี่ยวข้องกัน เกิดขึ้นเกี่ยวพันกันได้ด้วยบางเรื่องบางสิ่งอย่างไม่น่าเชื่อ มันเกิดขึ้นครั้งแล้วครั้งเล่า จนเราเกิดความสงสัยขึ้นในความคิดว่า นี่เป็นเพียงเรื่องบังเอิญ หรือ เป็นความจงใจของใครบางคน

ผู้คนบางกลุ่มจึงได้ "รวบรวม" และ "เชื่อมโยง" เรื่องราวเหล่านี้เข้าด้วยกัน พัฒนาจากเหตุการณ์ที่ผ่านมาผ่านไป สู่การมีประสบการณ์ร่วม สู่การเฝ้าสังเกตติดตาม เริ่มมีสมมติฐาน(ในใจ) เริ่มมีการวิเคราะห์(ในความคิด) นำไปสู่การหา "คำตอบ" เพื่อ "สรุปความ" ให้กับสิ่งที่ตนเองจะใช้เป็น "ความเชื่อ" ต่อไป
บางส่วนของคนกลุ่มนี้ เชื่อมั่นคงกับ "บทสรุป" ของตนเสียจนมีเพียงเส้นใสๆบางๆกั้นไว้ระหว่าง "ศรัทธา" กับ "งมงาย" ขณะที่อีกบางส่วนพร้อมยินดี "ปรับเปลี่ยน" ความเชื่อของตนเสมอ หาก "บทสรุป" เปลี่ยนไป

มีคนไม่น้อยที่รู้สึกตื่นตาตื่นใจกับ "ความเชื่อมโยง" ที่ตนค้นพบ แล้วนำไปแบ่งปันกับผู้อื่นด้วยความมั่นใจใน "องค์ความรู้ใหม่" มีไม่น้อยที่การค้นพบใหม่ๆเหล่านี้ ดู "ขลัง" มากขึ้น ด้วยการเพิ่มเติมเรื่องราวประกอบ ปิดบัง หรือบิดเบือนข้อมูลเล็กๆน้อยๆ ที่เห็นว่าไม่เป็นสาระสำคัญ รวมทั้งยกตัวอย่างให้เห็นชัดเจน ซึ่งทำให้ "ทฤษฎี" ฟังแล้วน่าเชื่อถือ สมเหตุสมผลมากขึ้น

ทฤษฏีที่น่าเชื่อถือนี้ ยังจะนำไปสู่การสมคบคิดใหม่ๆของผู้คน
ด้วยหลักฐานที่ "เพิ่งจะ" ค้นพบมากขึ้น ทั้งหลักฐานประจักษ์แก่ตาในปัจจุบัน หลักฐานจากความทรงจำในอดีต รวมทั้งเหตุผลที่สามารถยอมรับได้ของการ "ยังคงไม่พบ" หลักฐานบางส่วน ที่(เชื่ออย่าง)มั่นใจว่าจะพบในอนาคตอย่างแน่นอน ยิ่งผู้เสนอทฤษฎีดูมีความน่าเชื่อถือ มีอิทธิพลมากเพียงใด กระบวนการสมคบคิดนี้ก็จะใหญ่โตมากเท่านั้น

ทฤษฎีบางเรื่องมีอายุยืนยาวถึง 150 ปี ในขณะที่ทฤษฎีบางเรื่องอาจมีอายุเพียงไม่กี่วัน แต่ล้วนได้ส่งผลต่อการสร้าง "คำตอบ" บางอย่างขึ้นแก่ผู้ได้ฟัง ซึ่งอาจจะกลายเป็น พื้นฐาน ของการสมคบคิด ทฤษฎีใหม่ๆเรื่องอื่นๆในครั้งต่อๆไป

หากเราสามารถมีชีวิตเป็นนิรันดร์ได้ บางทีเราอาจะพบว่า โลกนี้ไม่มีอะไรใหม่ภายใต้ดวงอาทิตย์นี้ โลกในทุกวันนี้ ยังคงเป็นเหมือนเมื่อวาน และจะเป็นเหมือนเดิมตลอดไป
โลกไม่ได้เป็นอย่างไร เราต่างหากที่เป็นอย่างไร มนุษย์ก็เห็นโลกในสิ่งที่เขาเป็นนั่นแหล่ะ (คุณเชื่อทฤษฎีนี้ไหม)

ทฤษฎีที่ได้รับการพิสูจน์ยาวนานและมากพอ จะได้รับการยอมรับว่าเป็น "กฎ"
กฎที่ได้รับการพิสูจน์ยาวนานและมากพอ จะได้รับการยอมรับว่าเป็น "ความจริงสากล"
แต่ใครจะมีอายุอยู่ยืนยาวนานได้ขนาดนั้น...

โลกนี้ไม่มีเรื่องบังเอิญ ไม่มีความลี้ลับที่อธิบายไม่ได้ (แต่คำอธิบายอาจทำใจให้ยอมรับและเข้าใจได้ยากในช่วงเวลาใดเวลาหนึ่ง)

ครั้งต่อไป หากคุณกำลังหาเบอร์โทรศัพท์เพื่อนสนิทสมัยมัธยมคนหนึ่งที่ไม่ได้ติดต่อกันนานมาก แล้วจู่ๆเขาก็โทรมาในเวลานั้น ถามเขาให้ดี เขาอาจจะกำลังฟังสถานีวิทยุช่องเดียวกับคุณอยู่ ซึ่งเพิ่งจะเปิดเพลงที่คุณสองคนชอบร้องด้วยกันบ่อยๆสมัยเรียนหนังสือ

คำตอบที่แท้จริงมีแน่ แต่ เราจะ "เชื่อมโยง" "เหตุผล" เพื่อ "ค้นพบ" "คำตอบ" ได้อย่างไร

Jun 15, 2009

นักปรัชญา#1: เริ่มต้นที่คำถาม...

ในนครเมืองแห่งหนึ่ง กำลังมีการร่างกฎหมายทั้งหมดเพื่อใช้เป็นมาตรฐานร่วมกันของสังคมในอนาคต
คณะกรรมการผู้ทรงเกียรติทุกคนจะต้องศึกษารายละเอียดทุกข้ออย่างละเอียดถี่ถ้วน
เพื่อให้เกิดความมั่นใจว่า กฎหมายทั้งหมดถูกต้อง เป็นประโยชน์และยุติธรรมต่อคนทุกคนในนครเมือง ไม่ว่าจะเป็นเพศใด กลุ่มไหน ชนชั้นใด
เพราะทันทีที่ร่างกฎหมายฉบับนี้เสร็จ และคณะกรรมการทุกคนลงชื่อรับรองเรียบร้อยแล้ว พวกเขาจะตายลงในทันที
แล้วคณะกรรมการทุกคนจะฟื้นขึ้นมาใหม่อีกครั้งในนครเมืองแห่งนี้ที่พวกเขาเป็นคนออกกฎหมาย
โดยที่พวกเขาไม่รู้ ไม่สามารถคาดเดา หรือไม่สามารถกำหนดได้เลยว่า พวกเขาจะปรากฏอยู่ตรงไหนของสังคม
สังคมแบบนั้น อาจจะเป็นสังคมที่มีความยุติธรรม และทุกคนเท่าเทียมกันหมด

นี่เป็นทรรศนะของ จอห์น รอลส์ นักปรัชญาศีลธรรม ที่ได้เคยยกเป็นตัวอย่างไว้ เพื่อพยายามอธิบายถึง สังคมที่ยุติธรรมว่าเป็นอย่างไร

....

สังคมหรือชุมชนที่เป็นธรรมแก่ทุกคน... คุณเคยเจอชุมชนแบบนี้ ในโลกทุกวันนี้บ้างไหม?

ทุกวันนี้คุณยืนอยู่ตรงไหนของสังคม? คุณยืนอยู่ตรงไหนของประวัติศาสตร์โลก? คุณมีชีวิตอยู่ในโลกนี้เพื่ออะไร?

คุณมั่นใจได้อย่างไรว่า สิ่งที่คุณ “เชื่อ” ว่าจริงนั้นเป็นความจริงแท้ เป็นความจริงสากล (TRUTH) ไม่ใช่สิ่งที่จริง (FACT) ซึ่งคุณหรือใครๆก่อนหน้าคุณ “รับรู้และยอมรับ” ต่อๆกันมาว่าจริง?

คุณรู้ได้อย่างไรว่า สิ่งที่คุณเรียกว่า ความจริง นั้นมันไม่ใช่สิ่งซึ่งคุณอุปโลกน์ขึ้นมาเองตามความเชื่อของคุณ บนพื้นฐานของเศษเสี้ยวจากความจริง รวมกับเรื่องจริงที่เกิดจากรับรู้ของคุณเอง?

คุณเป็นใคร?

อะไรคือสิ่งที่คุณมุ่งมั่นปรารถนาอย่างแรงกล้าที่จะทำให้ได้ในชีวิตนี้จริงๆ?

ทุกวันนี้ คุณมีสันติสุขแท้จริง มีความสุขในชีวิต มีความอิ่มเอมในจิตใจอยู่ดีใช่ไหม?

คุณเคยตอบคำถามเหล่านี้กับตัวเองอย่างจริงใจบ้างหรือเปล่า?

ก่อนจะคิดว่ามันเป็นคำถามที่เสียเวลาและไม่เกิดประโยชน์ คุณคิดว่า คุณต้องใช้เวลาเท่าไหร่กับกระบวนการหาคำตอบ คุณรู้ใช่ไหมว่า สาระของคำถามไม่ได้อยู่ที่คำตอบ แต่มันจะกลายเป็นคำถามที่ไร้สาระ หากมันถูกทิ้งไว้ให้กลายเป็นเพียงแค่ “คำถาม”

Jun 4, 2009

ดูหนังดูละครย้อนดูตัว... Angels and Demons

ศาสนา ความเชื่อ ความดี ความเลว มนุษย์

มนุษย์มีความเชื่อ มนุษย์มีญาณทัศนะ มนุษย์มีวิจารณญาณ มนุษย์รู้จักการแยะแยะความดีและความชั่ว
สิ่งที่เห็นอาจไม่ใช่สิ่งที่จริง ความดีของคนอาจเคลืบคลุมความชั่วเอาไว้ รวมทั้งการกระชั่วของคนก็อาจปิดซ่อนความดีของเขาไว้ ทั้งนี้ทั้งนั้น ทุกคนอาจเพียงตั้งใจ และปรารถนาดี กระทำในสิ่งที่ตนเชื่อว่าถูก

มนุษย์มักตีความและเห็นในสิ่งที่ตัวเองเชื่อ แต่มีมนุษย์อีกไม่น้อย ด้วยเหตุผลร้อยแปดที่ไม่ยอมใช้ชีวิตตามที่ตัวเองเชื่อ ไม่ว่าจะอย่างไร คุณก็จะเจ็บปวดอยู่ดีไม่ช้าก็เร็ว ไม่สั้นก็นาน หากคุณยังคงไม่เปลี่ยนแปลง

มนุษย์ไม่ได้มีทั้งพลังความดีหรือพลังความชั่ว คอยสู้รบกันเพื่อแย่งชิงครอบครองความคิดและจิตใจของมนุษย์ มนุษย์เป็นสิ่งมีชีวิตที่คิดเป็น เลือกได้ วิญญาณของเรามีคุณงามความดีบรรจุอยู่ภายใน ขึ้นอยู่กับเจตนาของเราว่าจะปรุงแต่ง ความดีงามนั้น ออกมาอย่างไร

ท้ายที่สุดแล้ว ในโลกที่หลากหลายและแตกต่าง โลกที่วิญญาณของมนุษย์ในโลกต้องการการพักสงบมากกว่ายุคไหนๆ คำถามอาจไม่ได้เริ่มจากถามว่า มนุษย์จะค้นพบความสงบสุขแห่งจิตวิญญาณได้อย่างไร แต่คำถามอาจเริ่มต้นถามว่า มนุษย์ จะเริ่มต้น "หยุด" เพื่อให้จิตวิญญาณของตนพบกับความสุขสงบได้หรือยัง

ศาสนาสอนให้คนเป็นคนดี แต่ศาสนาก็ไม่เคยดีพร้อม มิใช่เพราะศาสนาไม่ดี แต่เพราะมนุษย์นั้นไม่สมบูรณ์ เราจึงยังคงมีข้อบกพร่องอยู่ เราทั้งหลายต่างไม่มีใครดีพร้อม ดังนั้น การคาดหวังให้มนุษ์ดีเลิศในทุกทาง จึงไม่น่าจะต่างอะไรกับการพยายามฉาบปูนขาวที่รูปปั้นของซาตาน ให้แลดูคล้ายนักบุญผู้ใจดี