Dec 31, 2014

2014 year in review

2014 กำลังจะผ่านไปแล้ว เป็นปีที่ยากจะหาคำมาอธิบายมากๆ
มีเรื่องราวเกิดขึ้นหลายอย่างที่ส่งผลให้ความคิดและพฤติกรรมของตัวเองเปลี่ยนไป
ลองนั่งรวบรวมความคิดออกมาได้ ๓๐ ข้อ เก็บไว้เป็นบทเรียนอีกครั้งหนึ่ง

1. จงมีสติเสมอ เคล็ดลับ คือ จงอยู่กับปัจจุบัน

2. การวางแผนที่ดี เป็นเพียงขั้นตอนหนึ่งเท่านั้น
เริ่มต้นด้วยเป้าหมายที่ชัดเจน และตามด้วยการดำเนินงานที่ยอมรับความเสี่ยงได้

3. ส่วนที่สำคัญที่สุดสำหรับการสร้างแบรนด์คือ แนวคิด และ อัตลักษณ์ ของแบรนด์
(the most important part of branding is concept and DNA)

4. ฅนที่สนใจแต่สิ่งที่จับต้องได้ ส่วนใหญ่ไม่สนใจเรื่องวิธีการ
(people who care tangible things, mostly don't care process)

5. ไม่อาจคาดหวังเรื่องที่ใช้การได้จากฅนที่ขาดความเข้าใจเรื่องนั้นๆ
(Never expect a practical issue from an unrealistic person)

6. ฅนส่วนใหญ่ถูกจูงใจด้วยอารมณ์และประสบการณ์
ฅนเก่งถูกจูงใจด้วยเหตุผลและผลประโยชน์
ฅนที่น่านับถือถูกจูงใจด้วยอุดมการณ์
(และเราอาจเปลี่ยนคำว่าจูงใจ เป็น หลอก ได้ด้วย)

7. เป็นความโง่เขลาที่ไม่ยอมเรียนรู้ แต่จะยิ่งอัปยศหากไม่ยอมรับความจริง

8. ความสัมพันธ์ไม่ใช่ zero sum game ไม่มีผู้แพ้และผู้ชนะในเกมส์เดียวกัน
ที่สำคัญมันไม่ใช่เกมส์ (หยอดเหรียญเล่นใหม่ไม่ได้ restart ก็ไม่ได้)

9. ผู้ฅนรู้จักเราจากสิ่งที่เราแสดงออก ไม่ใช่สิ่งที่เราเป็น
เว้นแต่เขาจะเป็นฅนลึกซึ้ง ซึ่งไม่คุ้มกันที่จะใช้ตัวเองเป็นเครื่องมือตามหาฅนเหล่านั้น

10. การ พัก(และ)ผ่อน เป็นส่วนหนึ่งของการทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ

11. จงมองหาของที่คุ้มค่ากับราคาที่เราจ่ายไหว แทนการมองหาของถูก

12. ความเข้มแข็งของฅน อยู่ที่ความแข็งแกร่งของจิตใจ
ซึ่งจะถูกพิสูจน์ได้ด้วย ทัศนคติและประสบการณ์ของตัวฅนๆ นั้นเอง

13. ก้าวแรกของความสำเร็จ ถูกกำหนดโดยวิสัยทัศน์

14. การอยู่ในสังคม อาจเป็นตัวเองได้ไม่ทั้งหมด จุดสมดุลย์ คือ อยู่ด้วยกันอย่างมีสันติ

15. การทำสิ่งต่างๆ "เพื่อบางสิ่ง" ต่างจาก การทำสิ่งต่างๆ "เพราะบางสิ่ง"
(บางสิ่งนั้น อาจคือ บางฅนก็ได้)

16. สุภาษิตโบราณ อาจเป็นถ้อยคำที่ไม่เคยโดน จนกว่าเราจะแก่พอ

17. บ่อยครั้ง ชัยชนะ เฉือนกันที่เรื่องสำคัญเล็กเล็ก รายละเอียดนิดน้อย

18. ถ้าอยากเป็นฅนดังให้พูด ถ้าอยากเป็นฅนเก่งให้ฝึกฝน ถ้าอยากเป็นฅนยิ่งใหญ่ให้มีน้ำใจ

19. หากมีน้ำใจแต่ขาดปัญญา ระวังจะถูกเอาเปรียบ หากมีปัญญาแต่ขาดน้ำใจ ระวังจะเห็นแก่ตัว

20. ข้อพิสูจน์ว่าเรากำลังทำงานที่ชอบ คือ เรายอมทำงานนั้นต่อไปแม้รู้สึกว่า ได้ ไม่คุ้ม เสีย

21. ใจเย็นเรื่องฅน อดทนเรื่องงาน

22. การที่เขายังไม่รู้ ไม่ได้แปลว่าเขาโง่ แต่การที่เขาไม่ใส่ใจที่จะเรียนรู้ แสดงถึงแนวโน้มว่า เขาโง่

23. หากพบปัญหาเดิมๆ ในสถานการณ์ที่แตกต่างกัน
ให้สงสัยไว้ก่อนว่า ปัญหาอยู่ที่ ฅน หรือ ระบบปฏิบัติการ

24. ข้อพิสูจน์ว่าเรากำลังทำตามความฝันหรือวิสัยทัศน์ของเรา คือ
เรายอมลงทุนในสิ่งที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ ณ ปัจจุบัน

25. มีดคมในฝัก เรือเร็วในท่าจอด รถแรงในพิท พรสวรรค์ในฅนที่ใช้มันไม่เป็น ไม่มีประโยชน์

26. เคล็ดลับของชีวิตที่มีความสุข คือ จงมีความสุข และแบ่งปันความสุขเหล่านั้นให้ฅนรอบข้าง
แล้วอยู่ท่ามกลางฅนเหล่านั้น

27. กำหนดเป้าหมายให้ตัวเองมากขึ้น ลดความคาดหวังแก่ฅนอื่นให้น้อยลง

28. ฅนเราจะรู้สึกพอ หากความสุขเกิดจากการมี ไม่ใช่จากการได้มา

29. รากฐานของชีวิต คือ ความสัมพันธ์
รากฐานของความสัมพันธ์ คือ การแบ่งปัน

30. สิ่งต่างๆ ดูเหมือนเป็นเรื่องง่ายๆ จนกว่าเราจะต้องลงมือทำด้วยตัวเองจริงๆ
และมันจะง่ายจริงๆ เมื่อเราทำมันเสร็จได้แล้วอย่างยอดเยี่ยม


ไม่่รู้ว่าปีหน้าจะเป็นอย่างไร หรือจะเจออะไรบ้าง แต่ก็ช่างมันเถอะ สิ่งที่เราทำได้ก็คือ ทำสิ่งที่อยู่ ณ ปัจจุบัน ตรงนี้
ถึงอย่างนั้นก็ยังแอบหวังและแอบรู้สึกว่า ปีหน้าคงได้เห็นอะไรดีๆ อีกหลายอย่างเกิดขึ้นแน่ๆ 

มีความสุขกันทุกวันนะครับ เจอกันปีหน้า :)

Sep 3, 2014

เกิดเป็นคนจน ก็ต้องโดนเอาเปรียบอยู่ร่ำไป

เมื่อเช้านี้ไปซื้อข้าวที่ร้านประจำแถวออฟฟิซ
มีป้ายแปะไว้ว่า ขึ้นราคาอาหาร
ที่จริงเขาแจกแจงละเอียดเลยล่ะ ว่าซื้อกี่อย่าง จากราคาเดิม เพิ่มเป็นเท่าไหร่

เจ๊ข้างหลังผมแซวเจ้าของร้านว่า "ไม่ได้มาแป้บเดียวเอง ขึ้นราคาแล้วเหรอ"
"ก็ขึ้นแค่ 5 บาทเท่านั้นเอง" เจ้าของร้านตอบด้วยสีหน้าเจื่อนๆ

ร้านนี้ขายข้าวราดแกง (แต่ความจริง มันคือตักแกงราดข้าว!!) กับข้าว 2 อย่าง เริ่มต้นที่ 35 บาท
ซึ่งก็นับว่า ไม่แพงมากนักเมื่อเทียบกับร้านอื่นๆ ในระแวกนี้
ปกติผมซื้อข้าวจานนึง ก็ 40-50 บาท สามอย่างบ้าง กินไข่ต้มบ้าง

พอได้ยินว่า ขึ้น 5 บาทเท่านั้นเอง ผมกลับอดคิดต่อไปไม่ได้
และนำมาซึ่งข้อสรุปตามหัวเรื่องข้างต้นว่า
"เกิดเป็นคนจน ทำไมต้องโดนเอาเปรียบอยู่ร่ำไป"

ลองคิดตามผมนะ
สมมติฐานคือ คนมีตังค์น้อยก็จะกินข้าวราคาถูกกว่า ตามกำลังทรัพย์ที่จ่ายได้
ลูกค้า 3 คน เดิมจ่ายค่าข้าว 30, 40, 50 บาท ราคาใหม่ กินเท่าเดิม
จ่าย 35, 45, 55 บาท ตามลำดับ ก็ดูยุติธรรมดีใช่ไหม?

ไม่เลย!!

เมื่อลองคิดเปอร์เซนต์ที่แต่ละคนต้องจ่ายเพิ่ม [(ราคาใหม่-ราคาเดิม)/ราคาเดิม]
จะได้เป็น 17%, 13%, 10% ตามลำดับ
กลายเป็นว่า คนที่มีตังค์น้อยกลับต้องจ่ายเพิ่มขึ้นมากกว่าคนมีตังค์เยอะ

ถ้าลองเอาโมเดลนี้ประยุกต์กับเรื่องอื่นๆ ของสังคม
ทุกครั้งที่มีการขึ้นราคาเท่า ๆ กัน ฅนที่มีกำลังซื้อน้อยกว่า ฐานะยากจนกว่า
จะรู้สึกถูกกระทบมากกว่าเสมอ

ครั้งหนึ่ง สมัยเรียนมหาวิทยาลัย เรือข้ามฟากปรับขึ้นราคา พวกเราที่คณะตื่นตัวกันมาก
ผมจำไม่ได้ ว่าเขาขึ้น 50 สตางค์ หรือ 1 บาท แต่จำได้แม่นว่าเขาขึ้น 100%

หากขยายขอบเขตการประยุกต์เรื่องนี้ไปยังเรื่องอื่นๆ ที่มีลักษณะของการเฉลี่ยต้นทุนไปยังทุกหน่วย(ผลิต/บริโภค/ลงทุน)
เราอาจพบว่า จริงๆ แล้ว มันมีต้นทุนแอบแฝง หรือ ความอยุติธรรม
แอบแฝงอยู่อีกไม่น้อยเลยทีเดียว

ผมคิดว่ามันเป็นเรื่องที่น่าเศร้านะ
คนเขาจนอยู่แล้ว ได้กินเท่าเดิมโดยที่ต้องจ่ายมากขึ้น ความพอใจลดลง โดนดอกแรก
แล้วยังโดนดอกที่สอง คือ ตัวเองยังต้องจ่ายแพงขึ้นกว่าคนที่รวยกว่าตัวเอง

ถามว่าอย่างนั้นแล้ว เราควรทำอย่างไรเรื่องการปรับราคา
ถ้าจะให้แฟร์ ก็ต้องปรับเป็นเปอร์เซนต์น่ะแหล่ะ
แต่ความเห็นส่วนตัว ผมคิดว่าเป็นไปได้ยากในยุคสมัยนี้
ยุคสมัยที่เราได้ยินบางคนพูดว่าเศษเงินยี่สิบบาท ยุคที่ฅนไม่พกเหรียญเพราะหนักกระเป๋า
ยุคที่ใครๆ ก็ฝันอยากมีเงินเป็นล้านแต่ดูถูกเงิน 25 สตางค์
(หลายคนคงลืมสุภาษิตว่า มีสลึงพึงบรรจบให้ครบบาท ไปแล้ว)
ยุคที่แม้แต่พ่อค้าข้าวแกงยังพูดว่า "ก็แค่ 5 บาท เท่านั้นเอง"

...
หลายเดือนก่อน ไปซื้อของสดเข้าบ้านที่ห้างแห่งหนึ่ง
คุณลุงข้างหน้าผม หลังจ่ายเงิน
เขาตรวจใบเสร็จก่อนจะท้วงพนักงานว่าคิดเงินผิด เกินไป 4.5 บาท
ไม่ผิดครับ "สี่บาท ห้าสิบสตางค์" จริงๆ
พนักงานแสดงความไม่พอใจออกทางสีหน้าเล็กน้อย
ส่วนผมน่ะหงุดหงิด เพราะอยากรีบกลับบ้าน

พอเข็นรถมาถึงที่จอด เราจอดรถใกล้กัน คุณลุงขับ ซี่รี่ย์ 7 ...
ตึ้งโป๊ะ!

ผมคิดง่ายๆ และความคิดของผมเปลี่ยนทันที
ถ้าอยากจะรวย ก็ต้องใส่ใจเรื่องเล็กๆ น้อยๆ
เงินไม่ได้หายากมากนัก แต่รั่วไหลง่ายมาก

ผมเริ่มหัดนิสัยตัวเองใหม่ตั้งแต่วันนั้น
เมื่อได้ยินพ่อค้าข้าวแกงพูดเมื่อเช้านี้ ผมหวังว่า แม้ผมจะเกิดมาไม่รวยเหมือนคนอื่นเขา
แต่วันนึงข้างหน้า ผมจะไม่เป็นคนหนึ่งที่โดนสังคมเอาเปรียบอีกต่อไป