Sep 3, 2014

เกิดเป็นคนจน ก็ต้องโดนเอาเปรียบอยู่ร่ำไป

เมื่อเช้านี้ไปซื้อข้าวที่ร้านประจำแถวออฟฟิซ
มีป้ายแปะไว้ว่า ขึ้นราคาอาหาร
ที่จริงเขาแจกแจงละเอียดเลยล่ะ ว่าซื้อกี่อย่าง จากราคาเดิม เพิ่มเป็นเท่าไหร่

เจ๊ข้างหลังผมแซวเจ้าของร้านว่า "ไม่ได้มาแป้บเดียวเอง ขึ้นราคาแล้วเหรอ"
"ก็ขึ้นแค่ 5 บาทเท่านั้นเอง" เจ้าของร้านตอบด้วยสีหน้าเจื่อนๆ

ร้านนี้ขายข้าวราดแกง (แต่ความจริง มันคือตักแกงราดข้าว!!) กับข้าว 2 อย่าง เริ่มต้นที่ 35 บาท
ซึ่งก็นับว่า ไม่แพงมากนักเมื่อเทียบกับร้านอื่นๆ ในระแวกนี้
ปกติผมซื้อข้าวจานนึง ก็ 40-50 บาท สามอย่างบ้าง กินไข่ต้มบ้าง

พอได้ยินว่า ขึ้น 5 บาทเท่านั้นเอง ผมกลับอดคิดต่อไปไม่ได้
และนำมาซึ่งข้อสรุปตามหัวเรื่องข้างต้นว่า
"เกิดเป็นคนจน ทำไมต้องโดนเอาเปรียบอยู่ร่ำไป"

ลองคิดตามผมนะ
สมมติฐานคือ คนมีตังค์น้อยก็จะกินข้าวราคาถูกกว่า ตามกำลังทรัพย์ที่จ่ายได้
ลูกค้า 3 คน เดิมจ่ายค่าข้าว 30, 40, 50 บาท ราคาใหม่ กินเท่าเดิม
จ่าย 35, 45, 55 บาท ตามลำดับ ก็ดูยุติธรรมดีใช่ไหม?

ไม่เลย!!

เมื่อลองคิดเปอร์เซนต์ที่แต่ละคนต้องจ่ายเพิ่ม [(ราคาใหม่-ราคาเดิม)/ราคาเดิม]
จะได้เป็น 17%, 13%, 10% ตามลำดับ
กลายเป็นว่า คนที่มีตังค์น้อยกลับต้องจ่ายเพิ่มขึ้นมากกว่าคนมีตังค์เยอะ

ถ้าลองเอาโมเดลนี้ประยุกต์กับเรื่องอื่นๆ ของสังคม
ทุกครั้งที่มีการขึ้นราคาเท่า ๆ กัน ฅนที่มีกำลังซื้อน้อยกว่า ฐานะยากจนกว่า
จะรู้สึกถูกกระทบมากกว่าเสมอ

ครั้งหนึ่ง สมัยเรียนมหาวิทยาลัย เรือข้ามฟากปรับขึ้นราคา พวกเราที่คณะตื่นตัวกันมาก
ผมจำไม่ได้ ว่าเขาขึ้น 50 สตางค์ หรือ 1 บาท แต่จำได้แม่นว่าเขาขึ้น 100%

หากขยายขอบเขตการประยุกต์เรื่องนี้ไปยังเรื่องอื่นๆ ที่มีลักษณะของการเฉลี่ยต้นทุนไปยังทุกหน่วย(ผลิต/บริโภค/ลงทุน)
เราอาจพบว่า จริงๆ แล้ว มันมีต้นทุนแอบแฝง หรือ ความอยุติธรรม
แอบแฝงอยู่อีกไม่น้อยเลยทีเดียว

ผมคิดว่ามันเป็นเรื่องที่น่าเศร้านะ
คนเขาจนอยู่แล้ว ได้กินเท่าเดิมโดยที่ต้องจ่ายมากขึ้น ความพอใจลดลง โดนดอกแรก
แล้วยังโดนดอกที่สอง คือ ตัวเองยังต้องจ่ายแพงขึ้นกว่าคนที่รวยกว่าตัวเอง

ถามว่าอย่างนั้นแล้ว เราควรทำอย่างไรเรื่องการปรับราคา
ถ้าจะให้แฟร์ ก็ต้องปรับเป็นเปอร์เซนต์น่ะแหล่ะ
แต่ความเห็นส่วนตัว ผมคิดว่าเป็นไปได้ยากในยุคสมัยนี้
ยุคสมัยที่เราได้ยินบางคนพูดว่าเศษเงินยี่สิบบาท ยุคที่ฅนไม่พกเหรียญเพราะหนักกระเป๋า
ยุคที่ใครๆ ก็ฝันอยากมีเงินเป็นล้านแต่ดูถูกเงิน 25 สตางค์
(หลายคนคงลืมสุภาษิตว่า มีสลึงพึงบรรจบให้ครบบาท ไปแล้ว)
ยุคที่แม้แต่พ่อค้าข้าวแกงยังพูดว่า "ก็แค่ 5 บาท เท่านั้นเอง"

...
หลายเดือนก่อน ไปซื้อของสดเข้าบ้านที่ห้างแห่งหนึ่ง
คุณลุงข้างหน้าผม หลังจ่ายเงิน
เขาตรวจใบเสร็จก่อนจะท้วงพนักงานว่าคิดเงินผิด เกินไป 4.5 บาท
ไม่ผิดครับ "สี่บาท ห้าสิบสตางค์" จริงๆ
พนักงานแสดงความไม่พอใจออกทางสีหน้าเล็กน้อย
ส่วนผมน่ะหงุดหงิด เพราะอยากรีบกลับบ้าน

พอเข็นรถมาถึงที่จอด เราจอดรถใกล้กัน คุณลุงขับ ซี่รี่ย์ 7 ...
ตึ้งโป๊ะ!

ผมคิดง่ายๆ และความคิดของผมเปลี่ยนทันที
ถ้าอยากจะรวย ก็ต้องใส่ใจเรื่องเล็กๆ น้อยๆ
เงินไม่ได้หายากมากนัก แต่รั่วไหลง่ายมาก

ผมเริ่มหัดนิสัยตัวเองใหม่ตั้งแต่วันนั้น
เมื่อได้ยินพ่อค้าข้าวแกงพูดเมื่อเช้านี้ ผมหวังว่า แม้ผมจะเกิดมาไม่รวยเหมือนคนอื่นเขา
แต่วันนึงข้างหน้า ผมจะไม่เป็นคนหนึ่งที่โดนสังคมเอาเปรียบอีกต่อไป