Apr 18, 2010

สิทธิส่วนบุคคล และการอยู่ร่วมกันในสังคม

เมื่อเช้านี้ รถโดยสารประจำทางเกิดมีอาการไม่ประจำทาง
มีป้ายแปะไว้ข้างรถว่า รถวิ่งไม่ถึงสนามหลวงจนกว่าเหตุการณ์จะกลับสู่ภาวะปกติ
ผมถามตัวเองในใจ เมื่อไหร่ล่ะเนี่ย แล้วพรุ่งนี้จะไปทำงานอย่างไร
(อ่ะ คันที่กำลังนั่งอยู่ ก็เปลี่ยนเส้นทางด้วยเหมือนกัน)

นั่งรถไปได้ครู่หนึ่ง ก็เห็นขบวนแห่นาคอยู่อีกฝั่งของถนน
พวกเขากำลังมุ่งหน้าไปวัด หลายคนร่ายรำ สีหน้าท่าทางบอกว่าอิ่มบุญมาก
แต่ที่ผมประหลาดใจ ก็คือ ขบวนนาคนั้นเดินสวนทางกับทิศทางที่รถวิ่ง
โดยมีรถขับนำขบวน 2 คัน กับคนโบก (ไล่) รถซึ่งขับถูกทิศทางอีก 1 คน
ผมมองไม่เห็นเจ้าหน้าที่จราจรนะ
เห็นแต่สีหน้าเซ็งๆ ของคนที่ต้องเปลี่ยนช่องทาง เพราะถูกขบวนนาคแย่งไปครึ่งถนน

เมื่อวันศุกร์ บริษัทประกาศให้พนักงาน รีบ กลับบ้านตั้งแต่เที่ยง
เมื่อวานเย็น ตลาดนัดแถวบ้านซึ่งปกติจะแน่นขนัดไปด้วยผู้คนแทบร้าง
ไม่ใช่ไม่มีคนซื้อ แต่คนขายไม่ว่าง ส่วนใหญ่เพราะมีนัดกันที่ศาลากลางจังหวัดนนทบุรี
นึกถึงข่าวที่ผู้ชายคนหนึ่งตะโกนด่ากลุ่มคนที่ขวางถนนด้วยความไม่พอใจ
เพราะทำให้เขาไปธุระไม่ทัน จนถูกตบหน้าคมำ

...ตัวอย่างเรื่องราวข้างต้น ผมเขียนค้างไว้ร่วมอาทิตย์แล้ว

ผมตั้งคำถามกับตัวเองด้วยความสงสัยปนกับประหลาดใจว่า
บ่อยครั้งที่เราเรียกร้องสิทธิของเรา เราไม่ต้องการให้ใครมาเอาเปรียบ
เรายืนหยัดในสิทธิอันเกิดจาก ความเชื่อ ของเรา
แล้วเมื่อเรารู้สึกว่าเราถูกเอาเปรียบ เราก็เรียกร้องสิทธิของเราจากสังคม ซึ่งอาจจะกำลังมีความเชื่อแตกต่างจากเรา
คิดอย่างนี้ มันถูกต้องแล้วจริงหรือ

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หากสังคมนั้น บ้านเมืองนั้นมีกฎกติกาในการอยู่ร่วมกัน
เราก็ออกมาป่าวร้องว่า ไม่ได้นะ กติกานั้นมันไม่ใช่กติกาที่ทุกคนควรยอมรับ
เป็นกติกาที่คนแค่บางส่วนเห็นด้วย เราไม่เห็นด้วยกับกติกานั้น หรือ วิธีการได้มาของกติกานั้น เพราะ... บลา บลา บลา...
(แต่ฉันก็ใช้สิทธิในการแสดงความไม่เห็นด้วยตามกติกานั้นนะ)

คนแต่ละคนมีความคิด มีความเชื่อแตกต่างกัน
มันยากมากที่กฏิกาในการอยู่ร่วมกันทุกเรื่อง จะเป็นสิ่งที่ทุกคนยอมรับ “และปฏิบัติตาม”
การปกครองประเทศในระบอบประชาธิปไตยจะแบบไหนก็แล้วแต่ ก็ใช้เสียงส่วนใหญ่ในการหาข้อสรุป
ไม่ได้แปลว่าทุกคนต้องเห็นด้วย และ/หรือเชื่ออย่างนั้น
เพียงแต่เสียงส่วนน้อยเคารพและให้เกียรติตามเสียงส่วนใหญ่
ผมพูดอย่างนี้ไม่ได้แปลว่า เสียงส่วนใหญ่จะถูกทุกครั้งเสมอไป
(เพราะบ่อยครั้ง การได้มาของเสียงส่วนใหญ่ ก็ถูกชักนำ โน้มน้าว จูงใจ และจ้างวานในบางกรณี
จาก เสียง ของคนส่วนน้อย หรือ จากใครบางคน)

หากเราเป็นเสียงส่วนน้อย ที่เชื่อว่าเราเชื่อถูก
เรามีสิทธิแสดงความคิดเห็นโต้แย้งอย่างเป็นเหตุเป็นผล
อธิบายให้คนอื่นเห็นด้วย เชื่อร่วมกับเรา คล้อยตามเรา หรือที่สุดแล้ว คือ
เรามีสิทธิที่จะย้ายหรือเปลี่ยนไปอยู่สังคมอื่น กลุ่มอื่น ที่เราคิดคล้ายๆเขา
แต่อย่าไปคิดจะหา/สร้างชุมชนหรือสังคมที่เชื่อเหมือนเราเป๊ะเลยนะ มันเป็นไปได้ยากมาก

ในความคิดของผม ผมคิดว่าสังคมไทยเป็นสังคมที่อ่อนแอ

เราอ่อนแอในการมีจุดยืนและความเชื่อของเรา
เราจึงมักต้องรอดูคนอื่นก่อน หรือขอใช้ของคนอื่นเป็นต้นแบบ
เราตอบตัวเองไม่ได้ว่าจริงๆ แล้ว เราเป็นใคร เราเชื่ออะไร และเพราะอะไร

เราอ่อนแอในการคิดและสื่อสาร
เราอธิบายไม่ได้จริงๆ ว่าเราทำสิ่งนั้นสิ่งนี้ไปเพราะอะไรและเพื่ออะไร
ถ้าอธิบายได้ คำอธิบายนั้นจะฟังขึ้น (Make sense) แม้จะมีบางคนไม่เห็นด้วยก็ตามที

เราอ่อนแอทางจริยธรรม
เรานับถือคนจากอะไร เรายกมือไหว้คนดี หรือยกมือไหว้คนใหญ่คนโต มีอำนาจ รวย แต่งตัวดี
ถ้ามีโอกาสให้เลือกเราคงอยากทำดีกันทั้งนั้น แต่ศีลธรรมกินไม่ได้...
เราคิดอย่างนั้นหรือเปล่า
ความสร้างสรรค์ที่เรามี ความฉลาดที่เรามี จึงยิ่งทำให้เรามีความสามารถสูงขึ้นในการทำผิดบริสุทธิ์
(แปลว่า ทำผิดโดยที่คนอื่นไม่รู้/ไม่เข้าใจ/ไม่เห็นว่าเป็นความผิด)

เราอ่อนแอในการอยู่ร่วมกัน
เราไม่อยากจะ เชื่อมต่อ กับคนที่แตกต่างจากเรา
เราต้องหาเหตุผลเพื่อทำให้ตัวเองรู้สึกว่าเราและเขาเป็นพวกเดียวกัน
จนรู้สึกไม่ลำบากใจที่จะอยู่ร่วมกันด้วยความรักและความ (พยายามจะ) เข้าใจอย่างสันติ

ภาพของคน 2 กลุ่มยังชัดเจนในหัวผม
คนกลุ่มหนึ่งใส่เสื้อสีแดงสด ร้องรำทำเพลงสีหน้าแสดงความสุขสนุกสนานอยู่เต็มถนน
เขาอาจจะดีใจที่วันนี้ความคิดเห็น ความเชื่อของพวกเขา ได้รับการแห่แหนบอกกล่าวแก่คนกทม.ทั้งเมือง
แต่ห่างไปอีก 2-3 เมตร คนอีกกลุ่มหนึ่งเพิ่งจะขึ้นมาจากรถไฟใต้ดิน
ทำหน้าเซ็งๆ เอือมระอา บางคนมีสีหน้าเหยียดหยามคนกลุ่มแรกอย่างเห็นได้ชัด
ผมไม่รู้นะว่าเขาคิดอะไรอยู่ แต่คงไม่เชิงดีซักเท่าไหร่แน่ๆ

ผ่านมาร่วมเดือน วันนี้ตั้งใจจะเขียนเรื่องนี้ให้เสร็จ (เป็นเรื่องที่ใช้เวลาเขียนนานมาก)

กว่า 1 เดือนที่ผ่านมา ผมได้รับข้อมูลข่าวสารหลายอย่าง
จากทั้งฝ่ายที่เห็นด้วยกับการชุมนุม จากฝ่ายที่ไม่เห็นด้วย จากฝ่ายที่บอกว่าตัวเองเป็นกลาง และจากที่พบเห็นเจอด้วยตัวเอง
ซึ่งข้อมูลข่าวสารเหล่านั้น ไม่ค่อยมีผลกับผมเท่าไหร่นัก
เพราะส่วนใหญ่สอดคล้องกับข้อมูลที่ผมมีอยู่ในมือมาได้ระยะหนึ่งแล้ว
เป็นข้อมูลเชิงลึกเสียจนกลายเป็นความเชื่อส่วนบุคคล
เพราะไม่สามารถหาหลักฐานเชิงประจักษ์มาแสดงได้

โดยส่วนตัว ผมไม่เห็นด้วยกับการชุมนุมหรือการร่วมกันกระทำบางสิ่ง จนไปละเมิดสิทธิของบุคคลอื่นในทุกรูปแบบ
ไม่ว่าจะเป็นการปิดล้อมสถานที่สำคัญๆ ของหน่วยงานต่างๆ ทั้งด้านการเมือง การสื่อสาร และเศรษฐกิจ
ซึ่งเป็นที่มาของข้อเขียนนี้
ผมทราบดีว่า การร่วมชุมนุมเพื่อแสดงความไม่เห็นด้วยทางการเมือง
มักมีรูปแบบที่ต้องสร้าง “ความระคายเคือง” ต่อการดำเนินชีวิตตามปกติของคนหมู่มาก
เพื่อให้ข้อเรียกร้องเหล่านั้นได้รับความสนใจ และ/หรือการพิจารณาจากผู้ปกครอง และคนหมู่มากในสังคม
ซึ่งในทางหนึ่งก็เป็นการหาสมัครพรรคพวกเพิ่มเติม

แต่ผมเชื่อว่า เราสามารถมีหนทางอื่นหลีกเลี่ยงจากวิธีการข้างต้นได้
หากผู้ริเริ่มชุมนุม (หรืออาจจะเรียกว่า แกนนำ) ไม่ได้มีอคติในใจตั้งแต่ต้นเสียแล้วว่า
ข้อเสนอ/ข้อเรียกร้องของเขาจะไม่ได้รับการพิจารณา
(เป็นไปได้ว่า เขาอาจรู้อยู่แล้วว่า ข้อเรียกร้องของเขานั้น “ฟังไม่ขึ้น”
หรือ แท้จริงแล้ว เขามีวัตถุประสงค์อื่นแอบแฝงอยู่เบื้องหลัง
ซึ่งนี่เป็นเรื่องที่เราแต่ละคนต้องพิจารณาจากสิ่งที่เขา พูด และ ทำ กันเอง)

สิ่งหนึ่งที่ผมไม่ชอบมากๆ และไม่เห็นด้วยมากๆ ในการชุมนุม (ไม่ว่าจะของ สี ไหนก็ตามที)
คือการใช้ถ้อยคำรุนแรงด่าทอผู้อื่น พูดปลุกเร้าความรู้สึกของมวลชนให้คล้อยตามไปในสิ่งเดียวกัน
การกล่าวหาผู้อื่น ที่ไม่มีโอกาสได้กล่าวแก้ ณ ที่นั้น รวมทั้งการให้ข้อมูลด้านเดียวต่อผู้ฟัง
ซึ่งเรื่องราวต่างๆนั้น มักหนีไม่พ้น เหตุผล ที่เป็นความชอบธรรมของการออกมาชุมนุมเรียกร้อง

นอกจากนี้ ยังมีเรื่องของการแสดงออกที่ไม่เคารพบุคคลอื่น
ดูถูกเหยียดหยาม ประนาม สร้างความร้าวฉาน แบ่งแยก แตกก๊กแตกเหล่า
พวกฉันพวกเธอให้เกิดขึ้นแก่คนในสังคม
ไม่รวมถึง “การแสดงออก” ที่ชวนให้เชื่อได้ว่า
มีเบื้องหลังของการพยายาม เปลี่ยนแปลงการปกครองระบอบประชาธิปไตยโดยมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข
มาเป็นระบอบพลังมวลชน
หรือการสร้าง สถานะของ “รัฐ” ขึ้นมาซ้อน สภาพรัฐตามกฎหมายที่ปรากฎอยู่ในปัจจุบัน

อย่างที่ผมกล่าวไว้ตั้งแต่แรกว่า ไม่ใช่เรื่องง่ายที่ทุกคนในสังคมจะเชื่อเหมือนกัน
คำถามสุดท้ายที่ผมอยากจะถามคนที่เห็นชอบในการชุมนุม (ไม่ว่าจะฝ่ายใดก็ตาม)
ซึ่งเป็นสิทธิและเสรีภาพของท่านที่สามารถทำได้นั้น คือ
สิ่งต่างๆที่ท่านทำลงไปแล้ว กำลังทำอยู่ และคิดจะทำนั้น (ซึ่งผมเชื่อว่า เกิดจากเจตนาที่ดี)
มันได้ไปละเมิดสิทธิและเสรีภาพของเพื่อนร่วมสังคมคนอื่นๆ ที่เห็นต่างจากท่านหรือไม่
คิดให้ดีว่า สิ่งต่างๆเหล่านั้น มันจะช่วยให้ พวกเรา รวมทั้งลูกหลานของพวกเรา
อยู่ร่วมกันได้ในสังคมได้ดีขึ้นจริงๆ มีสันติสุขร่วมกันจริงๆ...

ใช่ไหม

คุ้นเคย...

หลังจากตื่นนอน คุณทำอะไรเป็นสิ่งแรก
เวลาบีบหลอดยาสีฟัน คุณบีบตรงส่วนไหน หัว กลาง หรือท้าย
คุณใส่เสื้อ หรือ กางเกง (กระโปรง) ก่อนกัน
เวลาไปซื้อของที่ตลาดนัด คุณต่อราคากับคนขายหรือเปล่า
คิดอะไรไม่ออก เหงา เศร้า ซึม ต้องการความช่วยเหลือ คุณนึกถึงคือใครเป็นคนแรกๆ
จะชวนเพื่อนไปเที่ยวซักคน คุณนึกถึงใคร
คุณมีพฤติกรรมอะไรบ้างที่คนรอบข้างฟังแล้วบอกได้ว่า นั่นมัน ... (ใส่ชื่อตัวคุณเองนะ) นี่หว่า
และอื่นๆ อีกมากมาย...

สาระของคำถามข้างต้นนั้น ไม่ได้อยู่ที่ว่าคุณทำอะไร
แต่อยู่ที่คุณได้คิดหรือเปล่าว่า คุณทำสิ่งนั้นสิ่งนี้เพราะอะไร
คุณได้คิดหรือเปล่า หรือ คุณแค่ทำไปตามความคุ้นเคย...

เมื่อไม่กี่วันก่อนผมทะเลาะกับน้องคนหนึ่ง
เนื่องจาก เราต่างคุ้นเคยกับการทำบางอย่างไม่เหมือนกัน
ผมตอบคำถามไม่ได้ว่า ผมทำอย่างนั้นเพราะอะไร
เท่าที่นึกออก ก็อาจจะเพราะ เราเรียนมาว่า เงินรับต้องเร็วที่สุด เงินจ่ายต้องช้าที่สุด
ขณะที่น้องเขาต้องการให้เสร็จๆไปทันทีไม่ต้องมายุ่งยากภายหลัง
แต่เอาเข้าจริงๆ เหตุผลที่ผมนึกออก มันก็ไม่ใช่เหตุผลอยู่ดี
วันนั้น ผมเครียดมาก

กลับมาบ้านเทศกาลสงกรานต์คราวนี้ เป็นการกลับบ้านที่ผมไม่ค่อยอยากกลับซักเท่าไหร่
มีเรื่องเครียดๆ สะสมอยู่หลายเรื่อง มีงานค้างอยู่ในหัวหลายงาน มีเรื่องกังวลใจอีกหลายสิ่ง
เป็นภาวะที่ผมไม่คุ้นเคยเลยกับการต้องอยู่กับคนอื่น
โดยเฉพาะพ่อแม่ ญาติพี่น้องซึ่งเป็นผู้คนที่เรารู้ว่าเราควรรักเขา และควรดูแลเอาใจใส่เขาให้มากๆ
ใจจริงผมอยากจะอยู่กทม. นั่งทำงาน นั่งจัดแจงสิ่งต่างๆให้ลงตัวมากขึ้นมากกว่า
แต่อีกใจหนึ่ง ผมก็คิดถึงคุณพ่อคุณแม่ อยากกลับบ้านไปเยี่ยมท่านบ้าง แม้ว่าพอจะเดาได้ว่า จะเกิดสภาพอย่างไร

พ่อชี้ให้ดูต้นไม้ใหญ่ต้นหนึ่ง ซึ่งตั้งตระหง่านอยู่ริมถนนเพียงลำพัง
เนื่องจากกำลังมีการขยายถนน ต้นไม้เล็กๆ ชนิดอื่นๆ จึงถูกขุดถอนไปจนหมด
“ไม่รู้มันจะอยู่ได้นานอีกเท่าไหร่ เหลืออยู่ต้นเดียวโด่เด่อย่างนี้ อยู่ลำบาก” พ่อบอก
พ่อกำลังคิดว่าจะโค่นมันลงเพื่อเอามาทำวงกบประตูดี หรือจะขายทั้งต้นดี

ป้าถามว่า ตั้งแต่กลับมา เดินไปหาญาติคนอื่นบ้างหรือยัง... พ่อแซวต่อว่า สงสัยผมคงจะไปหาตอนที่จะกลับกทม.

... ผมเป็นลูกคนเดียวของพ่อแม่ มีความคิดและชอบทำอะไรไม่ค่อยเหมือนคนอื่นมาตั้งแต่เด็ก (สมัยนี้ ก็ต้องเรียกว่า เป็นพวกไม่แคร์สื่อมาตั้งแต่เด็ก)
บ่อยครั้งเพราะต้องการเรียกร้องความสนใจจากคนรอบข้าง แต่บ่อยครั้งก็เพราะไม่สนใจคนอื่น
สนใจเพียงความต้องการของตัวเอง
ตอนเด็กๆ ผมเล่นคนเดียวเป็นประจำ อ่านหนังสือ วิ่ง ว่ายน้ำ เตะฟุตบอล เล่นปิงปอง เล่นหมากฮอส เล่นตุ๊กตา ดูดาว อื่นๆ อีกมากมาย ไม่ว่าจะไกลแค่ไหน จะดึกเท่าไหร่ ส่วนใหญ่แทบทุกครั้งก็ไปคนเดียว

แต่ในใจของผมก็อยากมีเพื่อนซักคนไปด้วยกัน
ผมคิดว่ามันคงดี เวลาที่เราสนุกและได้หัวเราะได้ยิ้มด้วยกัน
เวลาหลงทางก็ยังมีคนอยู่ด้วยให้อุ่นใจ เวลาโซ่จักรยานหลุดก็ยังมีคนช่วยใส่ เวลาว่ายน้ำแล้วเป็นตะคริวก็ยังมีคนคอยช่วยลากเข้าตลิ่ง ช่วยกันคิด ช่วยกันทำ
คงมีทะเลาะบ้าง เถียงกันบ้าง คิดไม่ตรงกันบ้าง แต่ก็ยังดีกว่าอยู่เพียงลำพัง
บางครั้งผมก็อิจฉาพี่ชายของผมนะ (ลูกของลุง) เขาเป็นฝาแฝดกันไปไหนก็ไปด้วยกัน

จนได้รู้จักกับพระเยซู ผมรู้สึกว่าพระองค์เป็นเพื่อนที่ไปกับผมทุกที่จริงๆ

ชีวิตผมก็เหมือนกับคนทั่วๆไป ในแง่ที่เรามีเพื่อน มีคนรู้จัก ในโรงเรียน มหาวิทยาลัย โบสถ์ (วัด)
เราชอบเพศตรงข้าม บางเวลาเราสมหวัง บางเวลาเราผิดหวัง
สำหรับตัวผม หลายปีก่อน ผมเคยคิดว่า อยู่คนเดียวก็ได้
จนเมื่อปีที่แล้ว ที่ผมเลือกจะคบกับผู้หญิงคนหนึ่ง และตั้งใจจะแต่งงานอยู่กินด้วยกันจนแก่เฒ่า

ผมและเธอต้องปรับตัวจากสิ่งที่แต่ละคนคุ้นเคย จากการใช้ชีวิตเพียงลำพังมาเป็นการใช้ชีวิตร่วมกัน
ต้องปรับหาคลื่นให้เข้ากันทั้งเรื่องความคิด และวิถีการดำเนินชีวิต
ผมเชื่อว่า การที่ทั้งสองคนต้องก้าวออกมาจากพื้นที่ปลอดภัยของตัวเอง
คงทำให้ทั้งคู่อยู่ในภาวะ ไม่สบายตัวไม่สบายใจ บ้าง ไม่มากก็น้อย
จนเมื่อสามเดือนก่อน ความรู้สึก ของแต่ละฝ่าย ก็เดินทางมาถึง แนวต้าน และหยุดลง ณ ตรงนั้น...

กลับบ้านคราวนี้
ช่วยให้ผมยอมรับความจริงของตัวเองอย่างหนึ่งว่า ผมคุ้นเคยกับการอยู่ตัวคนเดียว
แม้ผมจะไม่ชอบและไม่อยากอยู่คนเดียวก็ตาม
ผมมองตัวเองว่าเกิดมาเป็นดั่งไม้ยืนต้น ที่วันหนึ่งคงเป็นร่มเงาให้ไม้เลื้อยและสัตว์อื่นได้พักพิงบ้าง
แต่ถึงวันนี้ ความจริงที่ว่า ไม้ใหญ่ไม่อาจยืนต้นได้เพียงลำพัง
ยิ่งตอกย้ำให้ผมไม่มั่นใจมากขึ้นว่า ผมจะเติบโตจนเป็นอย่างนั้นได้หรือเปล่า

เกือบ 1 ปีที่ผ่านมา
ผมได้เรียนรู้ที่จะมีชีวิตอยู่ร่วมกับผู้คนมากขึ้น
การลึกลงในความสัมพันธ์กับบางคน ก็ช่วยให้ความสัมพันธ์กับคนอื่นๆ ดีขึ้นไปด้วย
เป็นการเรียนรู้ที่ตลอด 30 ปี บนโลกนี้ ผมแทบจะไม่รู้จักเลย

ขณะที่ 3 เดือนที่ผ่านมา
กลับเป็นชีวิตที่ลักหลั่นยอกย้อนย่อนแย่นระหว่าง ชีวิตเดิมที่คุ้นเคยมาตลอดในการอยู่คนเดียว
กับชีวิตใหม่ที่คุ้นเคยกับการอยู่กับผู้คน
บ่อยครั้งที่ทำให้ผมหวนคิดถึงและโหยหาคนที่เปิดโลกใหม่ให้กับผม
แต่ก็ต้องย้ำบอกกับตัวเองไว้เสมอว่า วันเวลาเหล่านั้นได้ผ่านไปแล้ว

ยังไม่รู้เหมือนกันว่า วันข้างหน้าจะเป็นอย่างไร
เพียงแต่ไม่อยากให้ตัวเองใช้ชีวิตผ่านไปวันๆ
ตามความ คุ้นเคย กับวิถีชีวิตเดิมๆ ในอดีตของตัวเองก็แค่นั้น