Jul 3, 2009

ทฤษฎีเกม

ทฤษฎีเกม หรือ Game Theory เป็นที่รู้จักกันอย่างกว้างขวางในหมู่นักเ๋ศรษฐศาสตร์และนักวางแผนกลยุทธ์ทั่วไป
หลายคนที่เคยชมภาพยนตร์เรื่อง a beautiful mind ซึ่งสร้างจากเค้าโครงชีวิตจริงของ จอห์น แนช (John Nash) นักคณิตศาสตร์ชาวอเมริกันเจ้าของรางวัลโนเบลสาขาเศรษฐศาสตร์ คงอาจพอทราบบ้างว่า ทฤษฎีนี้ใช้เ็ป็นเครื่องมือในการตัดสินใจเลือกได้เป็นอย่างดี

ทุกเวลาที่ผ่านไปของชีวิตเรา เราต้องเลือกอยู่ตลอดเวลาว่าจะใช้ชีวิตอย่างไร การเลือกจึงเป็นเรื่องปกติของชีวิตมนุษย์ ไม่ว่าจะเลือกด้วยความรู้สึก เลือกด้วยเหตุและผล หรือแม้แต่เลือกตามๆเขาไป จะใช้ข้อมูลหรือไม่ใช่ อย่างไรเราก็ต้องเลือกอยู่ดี

ทฤษฎีเกมเป็นการแสดงความเป็นไปได้ของผลลัพธ์จากทางเลือกต่างๆ โดยสมมติว่า มีผู้เล่น 2 คน ในเกม และผู้เล่นทั้งคู่ต่างมีเหตุมีผล ดังนั้น ผู้เล่นจะเลือกทางเลือกที่ตนได้ผลประโยชน์มากที่สุดเสมอ โดยปกติมักไม่ใช้กฎเกณฑ์ทางศีลธรรม/มนุษยธรรม มาพิจารณาด้วย (เพราะมันวัดได้ลำบากในการจะบอกว่าใครเป็นคนดี) คงไม่ผิดนัก ถ้าจะบอกว่า ทฤษฎีนี้ตั้งสมมติฐานเบื้องต้นว่า มนุษย์นั้นล้วนเห็นแก่ตัว

ลักษณะรูปแบบของเกมส์ที่เล่นมีหลากหลายรูปแบบ แต่ไม่ว่าจะด้วยรูปแบบไหน หลักคิดสำคัญ คือ เราจะเลือกใช้กลยุทธ์ใดเมื่อผู้เล่นอีกฝ่ายเลือกกลยุทธ์ต่างๆ

บางเกมเราเลือกก่อน บางเกมเขาเลือกก่อน บางเกมเลือกพร้อมกัน บางเกมเล่นครั้งเดียว บางเกมเล่นระยะยาว ยังมีอีกหลายองค์ประกอบที่มีผลต่อการตัดสินใจเลือก ถ้าหากไม่ว่าอีกผ่ายจะเลือกอย่างไร เรายังคงควรเลือกกลยุทธ์เดิม เรียกกลยุทธ์นั้นสำหรับเราว่าเป็น "กลยุทธ์เด่น" ในขณะเดียวกัน อาจมีบางกลยุทธ์ให้ผลตอบแทนแก่เราต่ำกว่าทางเลือกอื่นๆเสมอ นั่นคือ "กลยุทธ์หมอบ" สำหรับเรา

หากทั้งสองฝ่ายสามารถเลือกกลยุทธ์ที่ทำให้ต่างก็ได้รับความพอใจมากที่สุด เพราะไม่สามารถได้รับผลตอบแทนที่ดีกว่าได้ด้วยการเปลี่ยนไปเลือกทางเลือกอื่นๆ เราเรียกกลยุทธ์นั้นว่า "จุดสมดุลย์ของแนช" (Nash's equilibrium)

สมมติว่า ในสถานการณ์หนึ่ง เรากับอีกฝ่ายต่างมีทางเลือก A และทางเลือก B
หากเขาเลือก A แล้วเราเลือก A เกิดประโยชน์ เราได้ 5 เขาได้ 10
หากเขาเลือก A แล้วเราเลือก B เกิดประโยชน์ เราได้ 4 เขาได้ 3
หากเขาเลือก B แล้วเราเลือก A เกิดประโยชน์ เราได้ 3 เขาได้ 8
หากเขาเลือก B แล้วเราเลือก B เกิดประโยชน์ เราได้ 2 เขาได้ 1

คุณคิดว่า เรา ควรเลือกกลยุทธ์ใด เกมนี้มีกลยุทธ์เด่นของเราหรือไม่ ถ้ามีคืออะไร.....
ลองคิดก่อนจะอ่านต่อไปนะครับ
.
.
.

ดูเหมือนว่า ทางเลือก B น่าจะเป็นกลยุทธ์เด่นของเรา เพราะไม่ว่าอีกฝ่ายจะเลือกอะไร เราก็ได้ "มากกว่าเขา" เสมอ ดังนั้น ทางเลือก A จึงเป็นกลยุทธ์หมอบที่น่าหลบเลี่ยงของเราเสมอ ด้วยวิธีการให้เหตุผลอย่างเดียวกัน

แท้ที่จริงแล้ว แก่นแท้ของการใช้ทฤษฎีเกม หรือ การคิดเชิงกลยุทธ์ ไม่ได้มีจุดมุ่งหมายเพื่อเอาชนะฝ่ายตรงข้าม แต่เป้าหมายของเราคือ การมุ่งเลือกทางเลือกที่จะสามารถรักษา/ได้รับผลประโยชน์ของตัวเราเองให้ได้มากที่สุด
ดังนั้น จากตัวอย่างสถานการณ์ข้างต้น ทางเลือก A จึงเป็นกลยุทธ์เด่นของเรา เพราะไม่ว่าเขาจะเลือกอะไร เราจะได้ผลตอบแทนมากที่สุดเสมอในความเป็นไปได้ที่เกิดขึ้น

หากเราไม่พยายามจะเอาชนะกันและกันมากจนเกินไปนัก มากจนบ่อยครั้งถึงขั้นทำร้ายตัวเอง เพื่อให้อีกฝ่ายได้ผลตอบแทนที่น้อยลง หากเราหันกลับมามุ่งพิจารณาทางเลือก เพื่อให้ได้รับผลประโยชน์ต่อตัวเองมากที่สุด บางทีโลกอาจจะเกิดความผาสุขท่ามกลางมนุษย์ผู้กำลังแย่งชิงกัน มากกว่า ณ ปัจจุบันนี้ก็เป็นได้

1 comment:

  1. เห็นด้วยเหอะ
    ทำไมต้องแข่ง
    ได้ีดีแล้วไม่พอ
    ต้องได้ดีกว่าคนอื่นด้วยรึไง

    ReplyDelete