Jan 18, 2010

เมื่อต้องรับรู้เรื่องใหม่ๆ

“เมื่อฉันเห็นใบโพธิ์ ฉันเรียกมันว่า ใบโพธิ์” ออสการ์ ไวด์

เคยสงสัยไหมว่า คนเรารับรู้สิ่งต่างๆ ได้อย่างไร

เมื่อปี 1962 ณ มหาวิทยาลัยแสตนฟอร์ด
นาย เฟสติงเจอร์ ลีออง ได้เสนอทฤษฎีหนึ่งชื่อว่า ทฤษฎีการไม่สอดคล้องกันของการรับรู้ (A theory of Cognitive Dissonance) เพื่อศึกษาว่า เราเชื่อสิ่งต่างๆ ได้อย่างไร และความเชื่อนั้นมีผลกระทบต่อพฤติกรรมของเราอย่างไร

โดยสรุป ทฤษฎีนี้กล่าวว่า เราพยายามรักษาความรู้สึกว่า มีความสอดคล้องกันระหว่างสิ่งต่างๆที่เรารู้จัก เราจะต่อต้านข้อมูลใหม่ๆ ที่เป็นต้นเหตุให้เกิดความไม่สอดคล้องกับความเชื่อของเรา หรือ เราจะพยายามหาทางลดการไม่สอดคล้องนั้น

เขาทำการทดลองหลายครั้งหลายรูปแบบ มีครั้งหนึ่งที่น่าสนใจ โดยเขาทำการสอบถามกลุ่มตัวอย่าง 585 คนว่า “คุณคิดว่า ความสัมพันธ์ระหว่างการสูบบุหรี่กับโรคมะเร็งปอด เป็นสิ่งที่ได้รับการพิสูจน์แล้ว หรือ ยังไม่ได้รับการพิสูจน์” ปรากฏผลว่า

กลุ่มคนไม่สูบบุหรี่ 29% เชื่อว่าพิสูจน์แล้ว อีก 55% คิดว่ายัง
ในขณะที่ กลุ่มคนที่สูบบุหรี่ 7% เชื่อว่าพิสูจน์แล้ว อีก 86% คิดว่ายังไม่ได้พิสูจน์

ปัญหาไม่ใช่เรื่องของคำถาม-คำตอบ แต่คือ ทำไมคนที่สูบบุหรี่กับคนไม่สูบบุหรี่ จึงมีความคิดต่างกันขนาดนั้น

เฟสติงเจอร์กล่าวว่า การที่คนสูบบุหรี่คิดอย่างนั้น เพราะเขากำลังพยายามลดระดับของการไม่สอดคล้องกันของการรับรู้ โดยการปฏิเสธความสัมพันธ์ดังกล่าวซึ่งเป็นสาเหตุของการไม่สอดคล้อง แม้จะมีหลักฐานทางการแพทย์ยืนยันมากมาย แต่การยอมรับหลักฐานเหล่านั้นทั้งที่ยังสูบบุหรี่อยู่ จะก่อให้เกิดการไม่สอดคล้องกัน ซึ่งจะสร้างความเจ็บปวดและความสับสนทางความเชื่อให้เขา การปฏิเสธข้อมูลใหม่ซึ่งไม่สอดคล้องกับพฤติกรรมเดิม จึงเป็นวิธีที่ง่ายที่สุดที่จะลดความเจ็บปวดนั้น

ด้วยทฤษฎีนี้ เขาสามารถนำมาอธิบายพฤติกรรมของคนเราว่ามีแนวโน้มที่จะลดความไม่สอดคล้องกันของการรับรู้ ซึ่งเกิดจากการไม่ลงรอยกันในสังคมได้อย่างไร โดยยิ่งมีขนาดของการไม่สอดคล้องกว้างเพียงใด ความพยายามที่จะลดมันก็ยิ่งมากเท่านั้น

เขาระบุถึงกลไก 3 อย่าง ซึ่งคนเราใช้ในการพยายามลดความไม่สอดคล้องกันอันเกิดจากการเห็นไม่ตรงกัน

1. การเปลี่ยนความคิดของเราให้สอดคล้องใกล้เคียงกับความรู้ใหม่ (ว่าคนอื่นเขาเชื่ออย่างไร) กลไกนี้ มักพบได้บ่อยในกลุ่มอภิปรายเพื่อแสวงหาฉันทามติร่วมกัน
2. การพยายามกดดันผู้อื่นที่เห็นไม่สอดคล้องกับเราด้วยวิธีการต่างๆนานา เพื่อเปลี่ยนความคิดของเขาให้เหมือนที่ตัวเองคิด นี่ก็เป็นอีกวิธีหนึ่งที่พบเห็นได้ไม่ยากนัก
3. การทำให้คนอื่นที่มีความคิดเห็นต่างออกไปกลายเป็นอะไรสักอย่างที่อยู่คนละระดับ คนละมาตรฐานกับเรา จนไม่สามารถใช้ความรู้หรือความเชื่อนั้นร่วมกับเราได้ เช่น การบอกว่า เขามีประสบการณ์เฉพาะตัว มีแรงจูงใจต่างกับเรา มีเป้าหมายต่างกับเรา รวมถึงการทำให้เขาเสื่อมเสียชื่อเสียง หรือแม้แต่การบอกว่า เขาตาบอดสี

นอกจากนั้น เฟสติงเจอร์ยังมีข้อสรุปเพิ่มเติมเกี่ยวกับพฤติกรรมการเรียนรู้ข้อมูลใหม่ซึ่งขัดแย้งกับความเชื่อเดิมว่า สำหรับบางคน การไม่สอดคล้องกันของความรู้ใหม่กับความเชื่อเดิมเป็นสิ่งที่เจ็บปวดอย่างแสนสาหัสเหลือจะทน ในขณะที่บางคนกลับมีความสามารถที่จะยอมรับการไม่สอดคล้องกันได้สูงกว่า

เป็นเรื่องง่ายสำหรับคนที่มีความอดกลั้นต่ำที่จะพัฒนาไปสู่ บุคลิกภาพแบบเผด็จการ และพร้อมจะใช้วิธีการที่ทำให้คนอื่นเสื่อมเสียได้อย่างง่ายๆ เพื่อลดความไม่สบายหรือความเจ็บปวด อันเกิดจากการไม่สอดคล้องกันของการรับรู้ของตน


นี่เป็นสรุปความจากส่วนหนึ่งที่น่าสนใจของหนังสือที่ชื่อว่า ฉีกหน้าวิทยาศาสตร์ (Alternative science) ซึ่งเดิมที ผู้แต่งให้ชื่อว่า วิทยาศาสตร์ลับแล (Science forbidden) จริงๆ แล้วหนังสือเล่มนี้พูดถึงการปฏิเสธการค้นพบความจริงๆใหม่ในโลกของนักวิทยาศาสตร์ซึ่งเป็นงานที่ได้รับการยอมรับโดยทั่วไปว่าต้องใช้เหตุและผลมากที่สุดงานหนึ่ง โดยเฉพาะเป็นการปฏิเสธโดยสภาวิทยาศาสตร์หรือผู้เชี่ยวชาญ เราไม่อาจรู้ได้ว่าโลกของเราล้าหลังกว่าที่ควรจะเป็นไปกี่ปี แต่อย่างน้อยที่รู้แน่ๆ ก็คือ พวกเขาปฏิเสธอยู่กว่า 5 ปี ที่จะยอมให้ “พิสูจน์” ว่า วัตถุที่หนักกว่าอากาศนั้นจะสามารถบินได้

ส่วนตัวผมเอง ผมคิดว่าทฤษฎีนี้สามารถนำมาใช้อธิบาย กระบวนการเปลี่ยนโลกทัศน์ หรือ การเปลี่ยนกรอบความคิด (Paradigm shift) ของคนเราได้ มันสามารถนำมาอธิบายได้ว่า ทำไมคน 2 คน ที่มีพื้นฐานความเชื่อไม่ต่างกัน เมื่อได้รับความรู้ หรือ เผชิญเหตุการณ์เดียวกัน ถึงมีพฤติกรรมตอบสนองแตกต่างกัน

ทำไม ขอบเขตของคนบางคนถึงไม่เคยขยายออกเลย ขณะที่คนบางคนกลับเรียนรู้สิ่งต่างๆได้อย่างมากมาย (คำว่า เรียนรู้ แตกต่างจากคำว่า รู้เกี่ยวกับ อย่างมาก อย่าเข้าใจไขว้เขว)

ทำไม บางกลุ่มคนจึงมีเอกภาพท่ามกลางความหลากหลาย เติบโต และขยายออก ขณะที่ บางกลุ่มไม่สามารถมีพื้นที่ให้กับความแตกต่าง เกิดเป็นลักษณะสังคมเชิงเดี่ยว หรือกลุ่มคนคล้ายที่หลายคนเรียก เพราะคนที่ไม่ยอมรับการกล่อมเกลาทางสังคม (Socialization) ก็จะถูกกดดันให้ออกจากกลุ่มไปเองโดยปริยาย

ทำไม คนแต่ละคนในบางชุมชน จึงมีเสรีภาพในการดำเนินชีวิต ขณะที่ บางชุมชนต้องจัดระเบียบ “สมาชิก” ของกลุ่ม ด้วย กฎเกณฑ์ นโยบาย และธรรมเนียมปฏิบัติ

นอกจากนี้ ทฤษฎีนี้ยังใช้อธิบายได้อีกว่า ทำไมในบางกลุ่มคนที่มักเน้นความสำคัญของผู้นำ (มากเกินจริง) จึงมักมีผู้นำที่มี บุคลิกภาพแบบเผด็จการ และที่สำคัญ ทำไม คนที่ย้ายออกไปจากกลุ่มคนเหล่านี้ จึงมักมีแต่คนชื่อเสียงไม่ดีเสียทุกครั้งไป

No comments:

Post a Comment