(บทความนี้ เขียนเมื่อ 28 พ.ค. 2010)
หลังจากเหตุการณ์ไม่สงบผ่านพ้นไป เรื่องราวต่างๆ ที่เลวร้ายก็ (น่าจะ) ผ่านพ้นไป
ตั้งแต่ตลาดหุ้นเปิดทำการจนถึงวันนี้ นักลงทุนต่างประเทศยังคงเทขายไม่หยุด
แม้จะมีแรงซื้อคืนมาบ้างจากนักลงทุนสถาบัน และนักลงทุนรายย่อยภายในประเทศ
แต่ภาพรวมของตลาดก็ยังคงลดลงอย่างต่อเนื่อง
นักวิเคราะห์ โดยเฉพาะทีมข่าวของหนังสือพิมพ์หลายแห่ง
ต่างจรดปากกาไปในทิศทางเดียวกันว่า
เป็นเพราะต่างชาติขาดความมั่นใจในการเมืองไทย เป็นเพราะรัฐบาลยังคงมาตรการเคอร์ฟิวส์
เสถียรภาพทางการเมืองเป็นปัจจัยเพียงตัวเดียว ที่ส่งผลอย่างมีน้ำหนักต่อการลงทุนในตลาดหุ้นเมืองไทย
ในมุมมองของคนไทยคนหนึ่ง
ถ้าเชื่อตามข่าวข้างต้น ผมคิดว่าเป็นการกระทำของต่างชาติที่เห็นแก่ตัวมาก
โดยเฉพาะถ้าดูหุ้นรายตัวที่โดนเทขายทิ้งอย่างมาก
ก็คือ บริษัทที่ได้รับผลกระทบโดยตรงจากเหตุการณ์ความไม่สงบในครั้งนี้
เช่น เซ็นทรัลพัฒนา (CPN) และ ไทยทีวีสีช่อง 3 (TV3)
ทั้งที่จริง เวลาเช่นนี้ น่าจะเป็นช่วงเวลาที่ยิ่งต้องเร่งระดมทุนเพื่อฟื้นฟูกิจการ
เป็นเวลาที่ต้องการความช่วยเหลืออย่างทันท่วงที เป็นเวลาที่ต้องการทั้งกำลังเงินและกำลังใจ
แต่ปรากฎว่า คนที่เคยร่วมเป็นหุ้นส่วน กลับทิ้งสภาพความเป็นเจ้าของไปเสียนี่
แต่หากมองมุมกลับในมุมของนักลงทุน ไม่ว่าจะรายใหญ่ รายย่อย หรือสถาบัน
เป้าหมายเบื้องต้น คือ การสร้างกำไรต่อหน่วยลงทุนให้สูงที่สุด
ดังนั้น จึงไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจ ที่เราเห็นพฤติกรรมการเทขายหุ้นของกลุ่มทุนต่างๆ
พวกเขาเล่นตามกติกาของตลาด กติกาของโลกเสรีประชาธิปไตยนิยมทุน
กติตกาสากลของโลกยุคปัจจุบันที่เขา คุณ และผม (ถูกยัดเยียดให้เล่นตาม) กำลังอาศัยอยู่
ซึ่งถ้าว่ากันตามกรอบกติกานี้ ก็คงเข้าใจได้ไม่ยากกับพฤติกรรมของกองทุนต่างชาติเหล่านั้น
(ถ้ายังจำกันได้ ช่วงต้นปีที่ผ่านมา
ประมาณ 1 สัปดาห์ ก่อนศาลฯ ประกาศคำพิพากษาคดียึดทรัพย์นักการเมืองคนหนึ่ง
ADVANCE ได้ประกาศปันผลงวดพิเศษให้ผู้ถือหุ้นเพิ่มเติมจากปันผลปกติ (พูดภาษาชาวบ้านง่ายๆ นะ)
ทำให้ กลุ่มทุนต่างชาติที่เพิ่งถือหุ้นมาได้ประมาณ 2 ปีกว่า คืนทุนเรียบร้อยแล้ว
ขณะที่กำไรสะสม ลดลงเหลือประมาณ 10% กว่า (ถ้าจำตัวเลขไม่ผิดนะ)
ซึ่งโดยปกติ เวลาบริษัทจะลงทุนเพิ่ม เขาก็จะใช้กำไรสะสม หรือ กู้ธนาคาร หรือ ออกหุ้นกู้
ตามแต่สถานะทางการเงินของตัวเอง และการคาดการณ์สภาวะเศรษฐกิจในอนาคต)
ในความเห็นส่วนตัวผม ผมไม่ค่อยเชื่อหนังสือพิมพ์เท่าไหร่นะ
ว่าปัจจัยที่ส่งผลจะมีแค่เรื่องเสถียรภาพทางการเมืองของไทยเท่านั้น
โลกทุกวันนี้มันแบนลงมาก
ผมยังคงมองว่า สภาพทางเศรษฐกิจที่อ่อนไหว
สามารถสร้างผลกระทบต่อเนื่อง ให้เกิดวิกฤตเลวร้ายทั่วทั้งโลกได้อย่างไม่ยากเย็นนัก
หากเกิดวิกฤติจากจุดใดจุดหนึ่งของระบบการเงินโลก
อย่าลืมว่าเรามีเชื้อประทุอยู่ทั้งที่อเมริกา ยุโรป
และจีน (ซึ่งมีเงินสำรอง 80%อยู่ในรูปเงินดอลลาร์สหรัฐ)
การใช้ชีวิตบนโลกนับจากนี้ไป จะอาศัยข้อมูลจากอดีตและปัจจุบัน
รวมทั้งประสบการณ์ เอามาร่วมวิเคราะห์ เท่านั้นคงไม่พอ
โลกเปลี่ยนแปลงเร็วเกินกว่าจะใช้วิธีการแก้ปัญหาแบบเดิมๆ
เพื่อแก้ปัญหาใหม่ๆ ที่กำลังและจะเกิดขึ้น
(คงจำเรื่อง Black swan theory ที่ผมเคยเขียนได้นะครับ)
มีคำขวัญหนึ่งกล่าวว่า “ชีวิตคือการลงทุน”
ผมไม่รู้ว่ามันจริงมากน้อยเพียงใด
แต่ก็เชื่อว่า “ส่วนหนึ่ง” ของชีวิต คือ การลงทุนจริงๆ
พอเริ่มนั่งคิดว่า ชีวิตคือการลงทุนขึ้นมาจริงๆ
ฟังดูเหมือนชีวิตนี้มีแต่เรื่องผลประโยชน์
จะคบใคร จะทำอะไร ดูมันเป็นเรื่องที่ต้องคิดคำนวณ ดูความคุ้มค่า ดูผลประโยชน์ที่จะได้รับ
ว่ามันมากที่สุด สูงที่สุดหรือเปล่า
ซึ่งผมคิดว่า คำพูดทำนองนี้
มาจากแนวคิดทางเศรษฐศาสตร์ เรื่อง อรรถประโยชน์สูงสุด (Maximize utility)
ก็คงไม่แปลกถ้าจะใช้คิดกับเรื่องการลงทุน แต่คงแปลกๆ ถ้าใช้คิดกับเรื่องการใช้ชีวิต
เคยคุยเล่นๆ กับเพื่อนสนิทว่า มีเมียเป็นการลงทุน มีลูกเป็นค่าใช้จ่าย...
แม้จะมองว่าเป็นการลงทุนเหมือนกัน ในแง่ลักษณะการเลือกลงทุน
ที่เราเลือกลงทุนแบบเน้นคุณค่า(Value investment)
เน้นลงทุนในหุ้นที่เรารู้จักดี มีพื้นฐานดี อยู่ในธุรกิจที่ดี ผู้บริหารดี
และเราเชื่อว่าจะสร้างผลตอบแทนที่ดีและยั่งยืนให้เราได้ชั่วลูกหลาน (555 อันนี้เว่อร์ไปละ)
ไม่ได้มองแค่ผิวเผิน เพียงเก็งกำไรระยะสั้น หรือเล่นตามตลาดเหมือนหลายคนทำกัน
แต่ก็ยังมีมุมมองที่ต่างกันบ้าง
ตรงที่การลงทุนทางธุรกิจ หรือเป็นหุ้นส่วนธุรกิจนั้น
มี “กำไรสูงสุด” เป็นเป้าหมาย ถ้าหุ้นที่ถืออยู่ไม่ตอบโจทย์ ก็ต้องเปลี่ยน
ต้องยอมขายขาดทุนในบางครั้ง
ในขณะที่อีกอย่างนั้น มันเป็นคำตอบในตัวของมันเอง
มันเป็นความผูกพันของชีวิต เป็นความสัมพันธ์ที่ไม่เปลี่ยนแปลง
เคยฝันอยากเป็นนักกลยุทธ์ธุรกิจและที่ปรึกษาทางการลงทุน
(ตอนนี้ก็ยังอยากอยู่นะ)
แต่คงต้องฝึกฝนสมองและหัวใจอีกมากๆ
ตอนนี้ก็ค่อยๆ เรียนรู้ไปเรื่อยๆ
ก่อนจะเริ่มต้นก้าวสู่การเป็น “นักลงทุน” ตัวจริงต่อไป
หลังผ่านประสบการณ์ตลาดทุนไทยสไตล์มวยวัดมาเกือบสิบปี
ReplyDeleteมีทั้งรอยยิ้ม ทั้งแผลเป็นบาดลึก
วันนี้กับโลกแห่งการลงทุน ผมเหมือนเริ่มนับหนึ่งใหม่
ลด อคติ ลด อัตตา
เปิดรับ เรียนรู้ และเติบโต
แวะมาอ่าน และไปมันห้วนๆงี้ล่ะครับ