Nov 3, 2009

7 นิสัยของคนใช้ชีวิต...อยู่กับคนอื่นให้เป็น

3 นิสัยในการอยู่ร่วมกับคนอื่นนี้ เป็นลักษณะนิสัยที่จำเป็นต้องมี 3 นิสัยก่อนหน้านี้เป็นพื้นฐาน

3 นิสัยแรก ส่งผลให้เราแข็งแรง รักตัวเองเป็น ดูแลตัวเองได้ มีจุดยืนบนหลักการที่ถูกต้อง ดำเนินชีวิตได้อย่างเป็นอิสระจากอิทธิพลของสิ่งอื่นหรือคนรอบข้าง เราจะเป็นคนที่มีอิทธิพลต่อตัวเอง

ยิ่งไปกว่านั้น เนื่องจากโลกนี้ได้รับการออกแบบเอาไว้ให้ทั้งหมดเชื่อมโยงกัน การมีอิทธิพลเหนือตัวเอง จึงเป็นการส่งผ่านอิทธิพลไปสู่ผู้อื่นด้วย ผมไม่ได้หมายถึงการมีอิทธิพลเหนือผู้อื่นในลักษณะการบงการ/ควบคุม ไม่ว่าจะทั้งทางตรงหรือทางอ้อม แต่เป็นการเผชิญหน้ากันระหว่างความแตกต่างของแต่ละบุคคล ซึ่งการจะทำอย่างนั้นได้ จำเป็นต้องอาศัย ความจริงใจ เป็นพื้นฐาน และยังต้องมีการ "สะสม" ความเชื่อใจ ความไว้วางใจที่มีต่อกัน

ไม่ว่าจะเป็นการใส่ใจสิ่งเล็กๆน้อยๆ การรักษาสัญญา การเข้าใจในความแตกต่างของคน การปฏิบัติอย่างให้เกียรติผู้อื่นทั้งต่อหน้าและลับหลัง การขอโทษคนอย่างจริงใจ ที่สำคัญ คือ การใช้ชีวิตด้วยความรักอย่างไม่มีเงื่อนไข

พฤติกรรมเหล่านี้ จะเป็นเสมือน สะพาน เชื่อมระหว่างหัวใจของเรากับเขา แต่อย่างที่บอกว่า พฤติกรรมเหล่านี้ตั้งอยู่บนพื้นฐานของ ความจริงใจ และ 3 นิสัยในส่วนแรก เพราะหากเราไม่ได้ทำจากสิ่งที่เราเป็นจริงๆ เมื่ออีกฝ่ายหนึ่งข้ามสะพานมาถึงเราแล้ว เขาก็จะเดินจากไปด้วยความรู้สึกว่า เขาถูกหลอก (และอาจเผาสะพานทิ้ง ไม่หวนคืนมาอีกด้วย)

การควบคุมตัวเองและการรักษาสัญญากับตัวเอง บนพื้นฐานของการมีจุดศูนย์กลางอยู่บนหลักการที่ถูกต้อง จะสร้างความรู้สึกชื่นชมตัวเองให้เกิดขึ้น ซึ่งเป็นปัจจัยพื้นฐานที่สำคัญในการอยู่ร่วมกับผู้อื่นและมีอิทธิพลต่อกันและกัน

การอยู่ร่วมกับผู้อื่น จึงไม่ได้หมายถึงแค่การอยู่ด้วยกันเพียงเท่านั้น แต่เป็นความสัมพันธ์จากภายในที่สามารถรับรู้และมีผลที่จับต้องได้

นิสัยที่ 4 เป็นนิสัยของการชนะร่วมกัน

โดยปกติ การตกลงเรื่องใดๆในความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล จะมีอยู่ 6 รูปแบบ พวกเราส่วนใหญ่จะถูกหล่อหลอมให้เติบโตมาด้วย รูปแบบ ชนะ-แพ้ หรือ แพ้-ชนะ คนกลุ่มนี้มักมีความมั่นคงในจิตใจไม่สูงนัก เพราะความมั่นคงของเขามักเกี่ยวพันกับคนอื่น โดยปกติ ถ้าไม่เป็นพวก นิยม(บ้า)อำนาจ ก็จะเป็นพวก ประนีประนอมยอมไปทุกสิ่ง พวกที่ใช้อำนาจมากๆจนโดดเดี่ยวไม่เหลือใคร ก็มักเปลี่ยนไปเป็นคนที่ยอม เพื่อให้มีเพื่อน ตรงกันข้ามกับพวกที่ยอมมากๆ จนเจ็บปวด รู้สึกว่าตัวเองไร้ค่า ถูกกระทำและเป็นเหยื่อ พวกนี้ก็จะไม่สนใจใคร คิดแต่จะเอาชนะคนอื่น เพื่อให้เกิดความรู้สึกว่าตัวเองมีค่า ชดเชยกับความรู้สึก "ขาด" ที่อยู่ลึกๆภายใน คนที่มีลักษณะ 2 รูปแบบนี้ จึงมักเป็นพวกขาดเสถียรภาพทางอารมณ์ และในระยะยาว รูปแบบความสัมพันธ์ก็มักจะจบลงที่แบบที่ 3 คือ แพ้-แพ้ ในที่สุด

รูปแบบที่ 4 ชนะ รูปแบบนี้สนใจแต่ตัวเองว่าต้องชนะ โดยไม่เกี่ยงว่าอีกฝ่ายจะเป็นอย่างไร ในขณะที่รูปแบบ ชนะ-ชนะ มีนิสัยที่ 5 คือ เข้าใจคนอื่นก่อน เป็นพื้นฐานสำคัญ เราจำเป็นต้องเข้าอกเข้าใจคนอื่นในระดับเดียวกันกับเขาก่อน จึงจะเริ่มต้นคุยกับเขาต่อได้อย่างรู้เรื่อง

เมื่อเรารู้สึกและสัมผัสว่า มีคนเข้าใจเรา เราก็คุยกับเขา ฟังเขา ได้ง่ายขึ้น ในทำนองเดียวกัน หากมีคนอื่นรู้สึกและสัมผัสเช่นนั้นจากเรา เขาก็จะเปิดใจคุยกับเราได้ง่ายขึ้น การที่เราบอกว่า ทำอะไรไม่ได้ เพราะเขาไม่เข้าใจเรา จึงเป็นคำอ้าง เพราะจริงๆ เราไม่จำเป็นต้อง "รอ" ให้เขาเข้าใจเราก่อน เราสามารถช่วยให้เขาเข้าใจเราได้ ด้วยการทำสิ่งที่เราสามารถทำได้ นั่นคือ เริ่มต้นเข้าใจเขาก่อน

การฟังคนอื่นอย่างเข้าอกเข้าใจอีกฝ่าย อาจมีผลให้เราอ่อนไหวไปตามอารมณ์และความรู้สึกได้ ซึ่งเป็นเรื่องปกติ ดังนั้นการมีทั้ง 3 นิสัยแรกก่อน จะช่วยให้เรามีความแข็งแรงในการตัดสินใจเรื่องต่างๆในชีวิตตามหลักการที่ถูกต้อง

ความสัมพันธ์แบบชนะ-ชนะ จึงเป็นมากกว่าแค่วิธีคิด แต่เป็นเรื่องของแนวทางการดำเนินชีวิต ที่ต้องใช้ทั้งความจริงใจ ความกล้าหาญ ความเข้าใจ ร่วมกันสร้างทางเลือกที่ 3 ซึ่งมักไม่ตรงกับที่แต่ละฝ่ายคิดไว้แต่แรก แต่เป็นทางที่สามารถตอบสนองความต้องการแท้จริงของทั้ง 2 ฝ่ายได้

ในท้ายที่สุด วิถีชนะ-ชนะ อาจจบลงด้วยรูปแบบของการไม่มีข้อตกลงใดๆ โดยที่ความสัมพันธ์ยังดีต่อกัน เนื่องจากทั้ง 2 ฝ่าย ต่างยอมรับว่าไม่มีวิธีใดสามารถตอบสนองความปรารถนาของทั้งคู่ได้จริง

สำหรับนิสัยการประสานพลัง (synergy) ซึ่งเป็นนิสัยที่ 6 โดยส่วนตัวผมค่อนข้างเชื่อว่า แทบจะเกิดขึ้นเองอย่างเป็นธรรมชาติ หากเรามีนิสัยทั้ง 5 ข้างต้น

การประสานพลัง คือ การที่เราทำงานร่วมกันแล้วได้ผลลัพธ์มากกว่าผลรวมของผลลัพธ์ที่แต่ละคนแยกกันทำงาน เช่น ผมคนเดียวยกไม้ได้หนัก 5 กก. คุณคนเดียวยกได้ 5 กก. เรา 2 คน ยกด้วยกันได้ 25 กก. (25 > 15+5)

ทั้งหมดทั้งสิ้นของการอยู่ร่วมกับคนอื่นได้ดี เริ่มต้นจากการอยู่คนเดียวได้ดี ชวนให้ผมนึกถึง ประโยคหนึ่งในพระคัมภีร์ของคริสเตียน "จงรักเพื่อนบ้านเหมือนรักตัวเอง"...เราจะรักคนอื่นได้อย่างไร หากยังรักตัวเองไม่เป็น...


หลังจากอ่านมาถึงตรงนี้ ผมพบกรอบความคิดของผมบางส่วนที่ถูกซ่อนไว้เกือบตลอด 15 ปีที่ผ่านมา กรอบความคิดที่เชื่อว่าเรารู้จักความจริงแท้ เราจึงเห็นโลกนี้ในสิ่งที่มันเป็นจริงๆ มันทำให้ผมไม่รู้สึกว่าจำเป็นต้องฟังความคิดเห็นของคนอื่น เพราะความคิดเหล่านั้นมันอยู่นอกกรอบหลักการความคิดที่ถูกต้อง มันสร้างท่าทีของความยโส และการเหยียดหยามผู้อื่น ที่สำคัญ มันทำให้ผมไม่สามารถเรียนรู้อะไรจริงๆได้เลย

ก่อนหน้านี้ไม่นาน ผมตระหนักว่า เราเห็นโลกนี้จากสิ่งที่เราเป็นต่างหาก รวมกับครั้งนี้ ผมจึงตระหนักว่า เพราะคนเราแตกต่างกัน เราจึงมีมุมมองต่อเรื่องต่างๆไม่เหมือนกัน เราจึงเข้าใจเรื่องต่างๆได้ไม่เท่ากัน ซึ่งหากเรายอมรับความจริงข้อนี้ เราจะสามารถแลกเปลี่ยนและประสานมุมมองของกันและกันได้ นั่นจะช่วยให้เราเข้าใจความจริงได้ชัดเจนขึ้น (เมื่อก่อนผมอาจจะเรียกมันว่า ความจำกัด แต่ผมคิดว่า มันคือ ความแตกต่าง มากกว่านะ)

แม้จะรู้สึกเสียใจอยู่บ้าง ที่เมื่อก่อนเรามีเหตุผล(ที่ฟังดูดี)เสมอ เพื่อใช้ในการปกป้องตัวเอง เสียใจที่ทำร้ายความรู้สึกของคนอื่น เสียใจที่เราเป็นอย่างนั้น แต่ก็อดตื่นเต้นและดีใจไม่ได้นะ ที่ 2-3 เดือนมานี้ ชีวิตเข้าที่เข้าทางมากขึ้น มีความสุขมากขึ้นครับ...

KEEP GROWING !!!

No comments:

Post a Comment