Jun 15, 2009

นักปรัชญา#1: เริ่มต้นที่คำถาม...

ในนครเมืองแห่งหนึ่ง กำลังมีการร่างกฎหมายทั้งหมดเพื่อใช้เป็นมาตรฐานร่วมกันของสังคมในอนาคต
คณะกรรมการผู้ทรงเกียรติทุกคนจะต้องศึกษารายละเอียดทุกข้ออย่างละเอียดถี่ถ้วน
เพื่อให้เกิดความมั่นใจว่า กฎหมายทั้งหมดถูกต้อง เป็นประโยชน์และยุติธรรมต่อคนทุกคนในนครเมือง ไม่ว่าจะเป็นเพศใด กลุ่มไหน ชนชั้นใด
เพราะทันทีที่ร่างกฎหมายฉบับนี้เสร็จ และคณะกรรมการทุกคนลงชื่อรับรองเรียบร้อยแล้ว พวกเขาจะตายลงในทันที
แล้วคณะกรรมการทุกคนจะฟื้นขึ้นมาใหม่อีกครั้งในนครเมืองแห่งนี้ที่พวกเขาเป็นคนออกกฎหมาย
โดยที่พวกเขาไม่รู้ ไม่สามารถคาดเดา หรือไม่สามารถกำหนดได้เลยว่า พวกเขาจะปรากฏอยู่ตรงไหนของสังคม
สังคมแบบนั้น อาจจะเป็นสังคมที่มีความยุติธรรม และทุกคนเท่าเทียมกันหมด

นี่เป็นทรรศนะของ จอห์น รอลส์ นักปรัชญาศีลธรรม ที่ได้เคยยกเป็นตัวอย่างไว้ เพื่อพยายามอธิบายถึง สังคมที่ยุติธรรมว่าเป็นอย่างไร

....

สังคมหรือชุมชนที่เป็นธรรมแก่ทุกคน... คุณเคยเจอชุมชนแบบนี้ ในโลกทุกวันนี้บ้างไหม?

ทุกวันนี้คุณยืนอยู่ตรงไหนของสังคม? คุณยืนอยู่ตรงไหนของประวัติศาสตร์โลก? คุณมีชีวิตอยู่ในโลกนี้เพื่ออะไร?

คุณมั่นใจได้อย่างไรว่า สิ่งที่คุณ “เชื่อ” ว่าจริงนั้นเป็นความจริงแท้ เป็นความจริงสากล (TRUTH) ไม่ใช่สิ่งที่จริง (FACT) ซึ่งคุณหรือใครๆก่อนหน้าคุณ “รับรู้และยอมรับ” ต่อๆกันมาว่าจริง?

คุณรู้ได้อย่างไรว่า สิ่งที่คุณเรียกว่า ความจริง นั้นมันไม่ใช่สิ่งซึ่งคุณอุปโลกน์ขึ้นมาเองตามความเชื่อของคุณ บนพื้นฐานของเศษเสี้ยวจากความจริง รวมกับเรื่องจริงที่เกิดจากรับรู้ของคุณเอง?

คุณเป็นใคร?

อะไรคือสิ่งที่คุณมุ่งมั่นปรารถนาอย่างแรงกล้าที่จะทำให้ได้ในชีวิตนี้จริงๆ?

ทุกวันนี้ คุณมีสันติสุขแท้จริง มีความสุขในชีวิต มีความอิ่มเอมในจิตใจอยู่ดีใช่ไหม?

คุณเคยตอบคำถามเหล่านี้กับตัวเองอย่างจริงใจบ้างหรือเปล่า?

ก่อนจะคิดว่ามันเป็นคำถามที่เสียเวลาและไม่เกิดประโยชน์ คุณคิดว่า คุณต้องใช้เวลาเท่าไหร่กับกระบวนการหาคำตอบ คุณรู้ใช่ไหมว่า สาระของคำถามไม่ได้อยู่ที่คำตอบ แต่มันจะกลายเป็นคำถามที่ไร้สาระ หากมันถูกทิ้งไว้ให้กลายเป็นเพียงแค่ “คำถาม”

No comments:

Post a Comment