Jun 17, 2009

นักปรัชญา#3: ตอนที่2 การเปลี่ยนโลกของมาร์กซ

เรามักพูดกันว่ายุคของระบบปรัชญาที่ยิ่งใหญ่จบลงที่เฮเกล
ปรัชญาเปลี่ยนทิศทางจากระบบคิดที่ยิ่งใหญ่ กลายเป็นปรัชญาอัตถิภาวนิยม
หรือปรัชญาแห่งการกระทำตามความหมายของ มาร์กซ เมื่อเขาพบว่า
“ที่ผ่านๆมานักปรัชญาได้แต่ตีความโลกไปในวิถีต่างๆกัน ประเด็นคือเราต้องเปลี่ยนโลกต่างหาก”

มาร์กซ คิดว่า ปัจจัยทางวัตถุในสังคมมีบทบาทอย่างมากในการกำหนดวิธีคิดของเรา
ซึ่งจะมีผลต่อพัฒนาการของประวัติศาสตร์ในที่สุด
ในขณะที่เฮเกลเรียกพลังที่ขับเคลื่อนประวัติศาสตร์ว่าเหตุผลสากล
ซึ่ง มาร์กซ มองว่าเฮเกลคิดสลับกลับเหตุและผล

มาร์กซ ชี้ให้เห็นว่า “ความสัมพันธ์ทางจิตวิญญาณ” ไม่ได้ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของวัตถุ
แต่การเปลี่ยนแปลงทางวัตถุต่างหากที่สร้างความสัมพันธ์ทางจิตวิญญาณรูปแบบใหม่ขึ้นมา
โดยที่พลังทางเศรษฐกิจในสังคมคือตัวการสร้างความเปลี่ยนแปลงนี้
ดังนั้น พลังทางเศรษฐกิจจึงเป็นตัวขับเคลื่อนประวัติศาสตร์ให้ก้าวไปข้างหน้า

มาร์กซ เรียกความสัมพันธ์ทางวัตถุ เศรษฐกิจ และสังคมว่า พื้นฐานของสังคม
และเรียกวิธีคิดของสังคม รูปแบบการเมือง กฎหมายที่สังคมใช้
ศาสนา ศีลธรรม ศิลปะ ปรัชญาและวิทยาศาสตร์ว่า โครงสร้างส่วนบน ของสังคม

พื้นฐานของสังคมมีสามขั้น ขั้นแรก คือ เงื่อนไขในการผลิต ทรัพยากรธรรมชาติอะไรที่สังคมมี
สิ่งเหล่านี้เป็นรากฐานของสังคม ซึ่งจะเป็นตัวตัดสินรูปแบบการผลิตและวัฒนธรรมของสังคมนั้น
ขั้นต่อมา คือ ปัจจัยการผลิต พวกอุปกรณ์ เครื่องมือเครื่องจักรต่างๆของสังคม
สุดท้าย คือ ขั้นความสัมพันธ์ในการผลิต เป็นการแบ่งกระจายงานกันทำของคนที่เป็นเจ้าของปัจจัยการผลิต
เรียกได้ว่า พื้นฐานของสังคม หรือ วิถีการผลิต ในสังคมนั่นแหล่ะ คือ สิ่งที่กำหนดเงื่อนไขและอุดมการณ์ของสังคมนั้นๆ

มาร์กซ มองว่าการบอกว่าอะไรคือสิ่งที่ถูกศีลธรรมนั้นเป็นผลผลิตของ พื้นฐานของสังคม
เขาเน้นว่า ส่วนใหญ่แล้ว ชนชั้นปกครองในสังคมคือผู้ที่กำหนดบรรทัดฐานว่าสิ่งใดถูกสิ่งใดผิด
ประวัติศาสตร์จึงเป็นของผู้ที่ครอบครองปัจจัยการผลิตของสังคม

แม้ว่าทั้งเฮเกลและมาร์กซ ต่างมองว่างานคือสิ่งที่ดีและส่งผลอย่างมากต่อแก่นสารของความเป็นมนุษย์
โดยวิธีการทำงานของเรามีผลกระทบต่อจิตสำนึกของเรา และจิตสำนึกของเราก็มีผลต่อการทำงานของเราด้วย
แต่ในระบบทุนนิยม
มาร์กซมองว่าคนงานจะใช้แรงงานเพื่อคนอื่น บ่อยครั้งที่คนงานไม่ได้ทำงานที่ตัวเองชอบ
คนงานจะเริ่มรู้สึกแปลกแยกกับงาน และแปลกแยกกับตัวเองด้วย
จนไม่สามารถสัมผัสกับความเป็นจริงของตนเองได้ในที่สุด
ยิ่งในยุคสมัยของเขา
งานซึ่งควรจะเป็นความภูมิใจของมนุษย์ ได้ทำให้คนงานกลายเป็นสัตว์งานไป

นายทุนร่ำรวยขึ้นด้วยการขูดรีดแรงงานจำนวนมากมาย
และผลกำไรมหาศาลนี้ก็นำมาซึ่งความแตกต่างทางฐานะความเป็นอยู่ในการดำเนินชีพในสังคม และการปรับปรุงการผลิต
ซึ่งจะนำไปสู่การลดจำนวนคนงานและ/หรือค่าจ้างในที่สุดของทั้งระบบทุนนิยม

มาร์กซเชื่อว่าจะต้องเกิดการปฏิวัติ เกิดการต่อสู้เพื่อเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางสังคมในที่สุด
เขาเชื่อว่า สังคมทุนนิยม ไม่ใช่สังคมที่ยุติธรรม

ถึงทุกวันนี้ นักเศรษฐศาสตร์สามารถกล่าวได้มาร์กซวิเคราะห์ผิดพลาดในหลายประเด็นสำคัญ รวมถึงเรื่องวิกฤตของระบบทุนนิยมด้วย แต่ถึงกระนั้น ทฤษฎีของเขาก็เป็นต้นแบบที่นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงใหญ่ๆหลายๆครั้งบนโลกใบนี้

No comments:

Post a Comment