Jun 30, 2009

(ฅ.) คน

ตั้งแต่เด็กๆมาแล้วผมมักถูกเพื่อนๆรวมทั้งญาติๆในครอบครัว เรียกว่า “แกะดำ”
เนื่องด้วย การทำตัวที่แปลกประหลาด ผ่าเหล่าแยกต่างจากคนรอบข้างทั่วๆไป
ตอนนั้น ด้วยความเป็นเด็กน้อย ไม่ได้เข้าใจตัวเอง เห็นว่ามันเท่ห์ดี
การทำตัว “แปลกๆ” ทำให้คนสนใจเรา (ไม่รู้เล้ยว่า พ่อแม่ผู้ปกครองเขาเป็นห่วงแค่ไหน)
บ่อยๆครั้งนานวันเข้า ก็ติดใจกลายเป็นนิสัยใหม่ ที่ต้องสรรหาความแตกต่างจากชาวบ้าน โดยไม่จำเป็น
หารู้ไม่ว่า “ราคา” ของมัน แพงระยับ เพราะ พฤติกรรมเหล่านั้นส่งผลต่อวิธีคิดของผมในเวลาต่อมาอีกนาน

คน มีความแตกต่างกันจากหลากหลายสาเหตุ
ไม่ว่าด้วยเพราะคนเราเกิดมาต่างกัน ต่างพันธุกรรม ต่างสภาพแวดล้อมช่วงเยาว์วัย และอื่นๆอีกมากมาย
แต่ทั้งสิ้น คนเราก็อยู่ในโลกนี้ร่วมกันเป็นชุมชนใหญ่ ไม่ว่าเราจะอยากหรือไม่อยากก็ตาม

การเป็น แกะดำ ในฝูงแกะขาว จึงอาจดูเป็นเรื่องประหลาด
แต่หากมีแกะสีเหลืองโผล่ออกมาอีกซักตัว แกะดำกับแกะเหลืองอาจกลายเป็นเพื่อนกันได้ไม่ยาก

ผมก็ไม่รู้ที่มาที่ไปของคำว่า “แกะดำ” (Black sheep) เหมือนกันว่าเริ่มต้นมาจากไหนอย่างไร
เคยได้ยินมาเพียงว่า แกะมีนิสัยเห็นแก่กิน สายตาสั้น กลัวง่าย ตกใจง่าย เท่านั้น

ผมคิดว่า การที่ คน มาอยู่รวมตัวกันนั้น คงเพราะไม่ใช่เพียงเพราะเห็นแก่กิน
มองเห็นข้างหน้าไกลได้แค่ก้นของคนอื่น หรือ พอใจจะเบียดกันอยู่ในความรู้สึกอบอุ่น(ท่ามกลางขนนุ่มๆ)ของคนข้างๆ

การอยู่ร่วมกันเป็นโขลงๆก็ดูใหญ่โตดี ดูน่าปลอดภัย ดูน่าอบอุ่นใจ
แต่หากทุกๆคนต่างคนต่างคิดว่า เมื่อมีภัยเข้ามากร้ำกราย ก็จะมีคนอื่นกระโดดออกหน้ามาปกป้อง มาเผชิญหน้าแทนเรา แล้วเราก็จะปลอดภัย สามารถอยู่ต่อไปได้อย่างสบายๆไม่เดือดร้อนอะไร

หากฝูงแกะกระจายได้เพราะหมาป่า ฝูงคนเหล่านี้ก็คงกระเจิงได้เพราะปัญหาเหมือนกัน

คนเราแม้คิดต่างกัน เชื่อต่างกัน ใช่ว่าจะอยู่ด้วยกันไม่ได้เสียเลยทีเดียว
แต่เพราะแค่เพียงมีเป้าหมายร่วมกัน หรือมีความรักผูกพันต่อกัน ในโลกยุควันนี้และวันหน้า ผมไม่คิดว่าจะเพียงพอ

ประเภทของคน จะก่อให้เกิดเอกลักษณ์ของชุมชนที่ชัดเจน
ซึ่งผมมองว่าเป็นเงื่อนไขจำเป็นต่อความอยู่รอดขององค์กรนับจากวันนี้ไป

องค์กร หรือชุมชน ก็คือ “คน” ที่มาอยู่ร่วมกัน
ความเป็นองค์กร หรือ ความเป็นชุมชน หรือเรียกหรูๆว่า วัฒนธรรมองค์กรนั้น
จึงเกิดจาก ปรัชญา ความเชื่อ ค่านิยม เป้าหมาย ของคนแต่ละคนในองค์กร
ซึ่งในขณะเดียวกัน
สิ่งที่สะท้อนออกมาจากชุมชนเป็นค่านิยมร่วม (Shared value)
ก็จะมีผลย้อนกลับมาทำให้เกิดการกระบวนการขัดเกลาทางสังคม (Socialization) ต่อ “คน” แต่ละคนในชุมชนด้วย

การจะเปลี่ยน วิถีขององค์กร ผมคิดว่าจึงต้องเริ่มเปลี่ยนที่ “คน”
ใครบางคนที่มีผลกระทบต่อชีวิตของ “คน” อื่นๆในชุมชน เขาคนนั้นสมควรเป็นผู้เริ่มต้นเปลี่ยนแปลงตัวเองก่อน
(แน่นอนว่า เราทุกคนต่างมีอิทธิพลชีวิตต่อกันและกันอยู่แล้ว)

มองย้อนกลับไปในอดีต เห็นวิธีคิด ทัศนคติและจิตใจของตัวเองในวัยเด็ก ทำให้เข้าใจตัวเองในวันนี้และคนอื่นทั้งในวันนั้นและในวันนี้มากขึ้น
คนอื่นเขาเรียกเราว่า แกะดำ เพราะเขาเห็นว่าเรา “ทำ” แปลกๆ เขามองว่าเพราะเรา “คิด” แปลกๆ
ในขณะที่เรากลับไม่ได้มองว่า เรา “ดำ” หรือเขา “ขาว” แต่มองว่า เราทุกคนล้วนเป็น “คน” เหมือนกัน

หากชุมชนใด ยังปล่อยให้เรื่องบางเรื่องไม่ว่าเล็กหรือใหญ่
ก่อตัวกลายเป็น “กำแพงแห่งความไม่เข้าใจ” ให้คนส่วนใหญ่ใช้เป็นเหตุผลในการเรียกคนบางคนว่า “แกะดำ”
เกิดความคิดแยกพวก แยกฝ่าย ไม่เห็นด้วย รับไม่ได้กับการคิดต่างจากประชากรหมู่มาก
คนประเภทนี้ คงอยู่ร่วมกับคนประเภทแกะหลากสีได้ลำบาก...

หากยังจะฝืนให้อยู่ด้วยกันต่อไป คำว่า “คน” คงไม่พ้น เป็นได้เพียงแค่ “คำกิริยา”

No comments:

Post a Comment