Jun 17, 2009

นักปรัชญา#3: ตอนที่1 เฮเกลเชื่อว่า...

คงไม่ผิดนักหากจะกล่าวว่า
สิ่งหนึ่งที่ระบบปรัชญาของโลกก่อนหน้ายุคสมัยของ “เฮเกล” มีร่วมกัน คือ
ความพยายามที่จะสร้างมาตรฐานที่เที่ยงแท้ว่า มนุษย์สามารถรับรู้อะไรเกี่ยวกับชีวิตและโลกนี้ได้บ้าง
พวกเขาพยายามตรวจสอบพื้นฐานการรับรู้ของมนุษย์
แต่สิ่งที่พวกเขาเห็นร่วมกันคือ องค์ประกอบแห่งความรู้ของมนุษย์นั้นไร้กาลเวลาและเป็นสากล
มนุษย์ผู้อยู่ภายใต้กาลเวลาจึงไม่สามารถสร้างมาตรฐานนี้ได้

แต่เฮเกลเชื่อว่า สิ่งที่เป็นพื้นฐานของการรับรู้ของมนุษย์เปลี่ยนแปลงไปในคนแต่ละยุค
การไตร่ตรองทางปรัชญาก็เช่นเดียวกัน
เขาเชื่อว่าเหตุผลเป็นสิ่งที่เป็นพลวัตรและเป็นกระบวนการ มันจะไหลไปตามกระแสของขนบธรรมเนียมในอดีต
และเงื่อนไขทางสังคมที่ปรากฏในเวลานั้น
เราไม่สามารถแยกแนวคิดทางปรัชญาใดออกจากบริบททางประวัติศาสตร์ที่เกิดแนวคิดนั้นได้
เราจึงไม่สามารถบอกว่า แนวคิดของยุคสมัยอื่นผิด เพียงเพราะเราอยู่ในยุคสมัยนี้

เฮเกล เชื่อว่า เหตุผล หรือ ความรู้ ของมนุษย์นั้น ขยาย และ “ก้าวหน้า” ตลอดเวลา
หรือ อีกนัยหนึ่ง “สัจธรรม” จึงเป็นสิ่งที่เป็นพลวัตร ไม่มีสัจธรรมที่เที่ยงแท้
เพราะมนุษย์ไม่มีเครื่องมือที่อยู่เหนือกระบวนการทางประวัติศาสตร์ของเหตุผล
ซึ่งจะสามารถนำมาใช้ตัดสินได้ว่าอะไรถูกต้องที่สุดและมีเหตุผลที่สุด

เฮเกล อ้างว่า ใครก็ตามที่ศึกษาประวัติศาสตร์
จะพบว่า มนุษยชาติ ก้าวหน้าสู่ “การรู้จักตนเอง” และ “การพัฒนาตนเอง” มากขึ้นเรื่อยๆ
ประวัติศาสตร์ชี้ให้เห็นว่า มนุษย์กำลังเคลื่อนสู่ความมีเหตุผลและการมีเสรีภาพมากขึ้นเรื่อยๆ

เฮเกล ชี้ให้เห็นจากประวัติศาสตร์ว่า
ความคิดหนึ่งมักได้รับการเสนอขึ้นมา บนฐานของอีกความคิดหนึ่งที่มีการเสนอมาแล้วก่อนหน้านั้น
แต่ทันทีที่มีความคิดใดเสนอขึ้นมาเป็น “ภาวะพื้นฐาน” (Thesis)
ก็จะมีการแย้งโดยอีกความคิดหนึ่งเป็น “ภาวะแย้ง” (antithesis)
ทำให้เกิดความตึงเครียดระหว่างสองความคิด เกิดภาวะที่ขัดแย้งกัน
ซึ่งจะแก้ไขได้ด้วย การเสนอข้อแย้งของข้อแย้ง เป็นภาวะสังเคราะห์ (synthesis)
เกิดความคิดร่วมซึ่งรวมเอาจุดดีของสองความคิดแรกไว้ด้วยกัน
เฮเกลเรียกปรากฏการณ์นี้ว่า “กระบวนการ วิภาษวิธี”
หรือหากใช้กับความคิด วิธีคิดแบบนี้เรียกว่า “การคิดเชิงวิพากษ์”

แต่บ่อยครั้ง ท่ามกลางความขัดแย้งที่ตึงเครียด เป็นการยากที่จะตัดสินว่า ความคิดใดมีเหตุผลกว่า
“ประวัติศาสตร์” จึงทำหน้าที่เป็นตัวชี้ให้เห็นว่า สิ่งที่สมเหตุสมผล คือ สิ่งที่จะอยู่รอดได้

แน่นอนว่า “เหตุผล” ของเฮเกล เป็น “ตรรกะที่มีพลวัต” ซึ่งจะก่อให้เกิด กระบวนการวิภาษวิธีชุดใหม่ๆต่อไปไม่สิ้นสุด

นอกจากนั้น เฮเกล ยังเน้นความสำคัญของครอบครัว ชุมชน และรัฐ
สำหรับเขา รัฐ “มีความหมายมากกว่า” ปัจเจกชนที่เป็นพลเมืองของรัฐ
ไม่มีใครที่สามารถเกิดมาโดย “เป็นอิสระ” จากภูมิหลังทางประวัติศาสตร์ของรัฐ
ไม่มีใครสามารถ “ลาออกจากสังคม” ได้
ใครก็ตามที่ไม่สามารถหาที่ทางของเขาได้ในสังคม จึงเป็นคนไม่มีประวัติศาสตร์
ใครก็ตามที่ยักไหล่ไม่ใยดีกับสังคมที่เขามีชีวิตอยู่
และต้องการจะ “แสวงหาวิญญาณของตนเอง” ย่อมเป็นที่เย้ยหยันของผู้อื่น

เฮเกล คิดว่าไม่ใช่ปัจเจกชนที่ค้นหาตัวเอง
แต่เป็นจิตสากลในบุคคลที่แสวงหาการกลับสู่ตัวตนของมันเอง
ขั้นแรก จิตจะตระหนักถึงตัวเองในปัจเจกชน เรียกว่า จิตอัตวิสัย
ต่อมาเมื่อจิตตระหนักรู้จากการมีปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่นในรัฐ เรียกว่า จิตปรนัย
สุดท้าย จิตตระหนักในตัวตนขั้นสูงสุด เรียกว่าจิตสัมบูรณ์ ด้วยศิลปะ ศาสนา และปรัชญา
โดยสูงสุด คือ ปรัชญา เพราะในปรัชญาจิตจะไตร่ตรองผลกระทบของตัวมันที่มีต่อประวัติศาสตร์

นั่นคือ จิตจะนำพามนุษย์ให้สามารถค้นพบตัวเองได้เป็นครั้งแรกในปรัชญา
หรืออีกนัยหนึ่ง ปรัชญาก็คือกระจกเงาของจิตสากล(ในมนุษย์แต่ละคน) นั่นเอง

No comments:

Post a Comment