Jun 16, 2009

นักปรัชญา#2: ทางเลือกของคำตอบ

หากว่าเช้าวันหนึ่ง ผมมีนัดกับลูกค้า ซึ่งผมต้องเดินทางด้วยรถประจำทางสาย 18 ผมจ่ายค่าโดยสาร 18 บาท ตอนบ่ายกลับมาถึงบริษัท มีจดหมายด่วนส่งมาถึงผม 18 ฉบับ ตกเย็นไปกินข้าวกับเพื่อนได้บัตรคิวที่ 18 พนักงานพาไปนั่งโต๊ะที่ 18 เดินผ่านร้านขนมหวาน วันนี้ลดราคาพิเศษ ทุกชิ้นราคาเหลือเพียง 18 บาท สุดท้ายแวะซื้อกล้วย 1 หวีหน้าปากซอย กลับมาถึงบ้าน นึกในใจเล่นๆลองนับกล้วยหวีนั้น... ถูกต้องครับ มันมี 18 ผลพอดี

หากลองคิดถึงเหตุการณ์ต่างๆที่เกิดขึ้นในแต่ละวัน นึกถึงทุกอย่างที่เราเห็น ที่เราประสบพบเจอ เราอาจจะพบกับความเชื่อมโยงของเหตุการณ์ต่างๆซึ่งไม่เกี่ยวข้องกัน เกิดขึ้นเกี่ยวพันกันได้ด้วยบางเรื่องบางสิ่งอย่างไม่น่าเชื่อ มันเกิดขึ้นครั้งแล้วครั้งเล่า จนเราเกิดความสงสัยขึ้นในความคิดว่า นี่เป็นเพียงเรื่องบังเอิญ หรือ เป็นความจงใจของใครบางคน

ผู้คนบางกลุ่มจึงได้ "รวบรวม" และ "เชื่อมโยง" เรื่องราวเหล่านี้เข้าด้วยกัน พัฒนาจากเหตุการณ์ที่ผ่านมาผ่านไป สู่การมีประสบการณ์ร่วม สู่การเฝ้าสังเกตติดตาม เริ่มมีสมมติฐาน(ในใจ) เริ่มมีการวิเคราะห์(ในความคิด) นำไปสู่การหา "คำตอบ" เพื่อ "สรุปความ" ให้กับสิ่งที่ตนเองจะใช้เป็น "ความเชื่อ" ต่อไป
บางส่วนของคนกลุ่มนี้ เชื่อมั่นคงกับ "บทสรุป" ของตนเสียจนมีเพียงเส้นใสๆบางๆกั้นไว้ระหว่าง "ศรัทธา" กับ "งมงาย" ขณะที่อีกบางส่วนพร้อมยินดี "ปรับเปลี่ยน" ความเชื่อของตนเสมอ หาก "บทสรุป" เปลี่ยนไป

มีคนไม่น้อยที่รู้สึกตื่นตาตื่นใจกับ "ความเชื่อมโยง" ที่ตนค้นพบ แล้วนำไปแบ่งปันกับผู้อื่นด้วยความมั่นใจใน "องค์ความรู้ใหม่" มีไม่น้อยที่การค้นพบใหม่ๆเหล่านี้ ดู "ขลัง" มากขึ้น ด้วยการเพิ่มเติมเรื่องราวประกอบ ปิดบัง หรือบิดเบือนข้อมูลเล็กๆน้อยๆ ที่เห็นว่าไม่เป็นสาระสำคัญ รวมทั้งยกตัวอย่างให้เห็นชัดเจน ซึ่งทำให้ "ทฤษฎี" ฟังแล้วน่าเชื่อถือ สมเหตุสมผลมากขึ้น

ทฤษฏีที่น่าเชื่อถือนี้ ยังจะนำไปสู่การสมคบคิดใหม่ๆของผู้คน
ด้วยหลักฐานที่ "เพิ่งจะ" ค้นพบมากขึ้น ทั้งหลักฐานประจักษ์แก่ตาในปัจจุบัน หลักฐานจากความทรงจำในอดีต รวมทั้งเหตุผลที่สามารถยอมรับได้ของการ "ยังคงไม่พบ" หลักฐานบางส่วน ที่(เชื่ออย่าง)มั่นใจว่าจะพบในอนาคตอย่างแน่นอน ยิ่งผู้เสนอทฤษฎีดูมีความน่าเชื่อถือ มีอิทธิพลมากเพียงใด กระบวนการสมคบคิดนี้ก็จะใหญ่โตมากเท่านั้น

ทฤษฎีบางเรื่องมีอายุยืนยาวถึง 150 ปี ในขณะที่ทฤษฎีบางเรื่องอาจมีอายุเพียงไม่กี่วัน แต่ล้วนได้ส่งผลต่อการสร้าง "คำตอบ" บางอย่างขึ้นแก่ผู้ได้ฟัง ซึ่งอาจจะกลายเป็น พื้นฐาน ของการสมคบคิด ทฤษฎีใหม่ๆเรื่องอื่นๆในครั้งต่อๆไป

หากเราสามารถมีชีวิตเป็นนิรันดร์ได้ บางทีเราอาจะพบว่า โลกนี้ไม่มีอะไรใหม่ภายใต้ดวงอาทิตย์นี้ โลกในทุกวันนี้ ยังคงเป็นเหมือนเมื่อวาน และจะเป็นเหมือนเดิมตลอดไป
โลกไม่ได้เป็นอย่างไร เราต่างหากที่เป็นอย่างไร มนุษย์ก็เห็นโลกในสิ่งที่เขาเป็นนั่นแหล่ะ (คุณเชื่อทฤษฎีนี้ไหม)

ทฤษฎีที่ได้รับการพิสูจน์ยาวนานและมากพอ จะได้รับการยอมรับว่าเป็น "กฎ"
กฎที่ได้รับการพิสูจน์ยาวนานและมากพอ จะได้รับการยอมรับว่าเป็น "ความจริงสากล"
แต่ใครจะมีอายุอยู่ยืนยาวนานได้ขนาดนั้น...

โลกนี้ไม่มีเรื่องบังเอิญ ไม่มีความลี้ลับที่อธิบายไม่ได้ (แต่คำอธิบายอาจทำใจให้ยอมรับและเข้าใจได้ยากในช่วงเวลาใดเวลาหนึ่ง)

ครั้งต่อไป หากคุณกำลังหาเบอร์โทรศัพท์เพื่อนสนิทสมัยมัธยมคนหนึ่งที่ไม่ได้ติดต่อกันนานมาก แล้วจู่ๆเขาก็โทรมาในเวลานั้น ถามเขาให้ดี เขาอาจจะกำลังฟังสถานีวิทยุช่องเดียวกับคุณอยู่ ซึ่งเพิ่งจะเปิดเพลงที่คุณสองคนชอบร้องด้วยกันบ่อยๆสมัยเรียนหนังสือ

คำตอบที่แท้จริงมีแน่ แต่ เราจะ "เชื่อมโยง" "เหตุผล" เพื่อ "ค้นพบ" "คำตอบ" ได้อย่างไร

1 comment:

  1. หลักวิทยาศาสตร์ทั่วไปไม่ขัดแย้งกับพระคัมภีร์ไบเบิล ยกเว้นทฤษฎีของ ชาร์ลส์ ดาร์วิน...

    www.sarakadee.com/web/modules.php?name=Sections&op=viewarticle&artid=910

    ลองอ่านกันดูครับ

    ReplyDelete